โครงการ “การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือสู่รูปแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (พ.ศ.2557 - พ.ศ.2559)


ที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นภาคหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนต่างๆ อาทิ การสร้างแรงจูงใจเพื่อตั้งฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ผลของการพัฒนาทางอุตสาหกรรม นอกจากจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน แต่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพอย่างกว้างขวางต่อชุมชน

นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาที่เกิดขึ้นตามนโยบายกระจายการพัฒนาความเจริญไปสู่ภูมิภาคโดยใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวนำ โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมรับมือของชุมชนที่จะต้องเผชิญกับสภาวะการมีอุตสาหกรรมเข้ามาแทรกซึมในวิถีชีวิตชุมชน สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่ศึกษานิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูน โดยทำการสำรวจสภาพพื้นที่และจัดประชุมสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลในบริเวณรอบๆ นิคมอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ใช้แรงงาน พบว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่รอบบริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูนในปัจจุบันชุมชนบริเวณรอบๆของนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ยังคงได้รับผลกระทบในหลายด้านทั้งปัญหาน้ำทิ้งจากนิคมฯ การจัดการขยะและกากของเสียจากอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาผลกระทบในด้านสังคม ผลกระทบด้านสุขภาพของแรงงาน ฯลฯ นอกจากนี้ข้อสังเกตที่ได้จากการลงพื้นที่ศึกษา พบว่าการนิคมอุตสาหกรรมฯ จ.ลำพูน ที่แม้จะมียุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ฯ ตามนโยบายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ แต่ยังไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่กำหนดได้เนื่องด้วยยังขาดการทำงานเชื่อมประสานการทำงานกันทั้งระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลุ่มแรงงาน และภาคประชาสังคม ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของการนิคมฯลำพูน อาทิ เรื่องการจัดการขยะ การลักลอบปล่อยน้ำเสียของโรงงาน ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน ส่งผลให้เกิดช่องว่างการสื่อสารระหว่างการนิคมฯ กับท้องถิ่นในเรื่องของการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ ซึ่งสอดรับตามผลการศึกษาของสถาบันธรรมรัฐฯ ในโครงการธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ในประเด็นที่ระบุไว้ถึงการทำงานของหน่วยงานระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานปฏิบัติ ว่าจะมีลักษณะการทำงานของแผนงานโครงการที่มาจากส่วนกลางที่ลงปฏิบัติในพื้นที่ มักจะทำให้หน่วยงานในระดับท้องถิ่นขาดการมีส่วนร่วมและขาดความเข้าใจในนโยบายและแผนงานโครงการนั้นๆ แม้ว่าในปัจจุบันผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายจะมีความพยายามสร้างกลไกการทำงานแบบบูรณาการในเชิงพื้นที่ก็ตาม แต่กลไกดังกล่าวยังเป็นกลไกและเครื่องมือการบริหารที่สนองนโยบายการพัฒนาจากส่วนกลางเป็นสำคัญ ซึ่งไม่เพียงพอและยังขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากแผนงานโครงการอาจจะไม่ได้สนองความต้องการของคนในพื้นที่โดยตรง ประกอบกับในพื้นที่ยังมีกลไกการบริหารของท้องถิ่นอยู่ แต่ยังไม่ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพเท่าที่ควร การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ประเด็นปัญหาของการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐในทุกระดับมักจะขาดการสื่อสาร สร้างความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้องกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจ

ผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้เกิดแนวคิดการพัฒนา เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-industrial Town) ขึ้น เพื่อเป็นรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานหรือการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้คุ้มค่า และลดการปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ตลอดจนได้รับการยอมรับจากชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบและโดยรวม ด้วยหลักการความร่วมมือพึ่งพากันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหน่วยงานรัฐท้องถิ่น และชุมชน เพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นแนวคิดที่ใช้หลักการออกแบบระบบอุตสาหกรรมให้มีลักษณะคล้ายระบบนิเวศวิทยาตามธรรมชาติ ด้วยหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ ปัจจุบันมีหลายประเทศนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ นโยบายและแผนการพัฒนาที่แตกต่างกันขึ้นกับบริบทของประเทศนั้น อาทิ แนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของธนาคารโลก ที่เรียกว่า Eco Cities2 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยคำนึงถึงทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของประเทศเดนมาร์ก ที่สร้างวงจรหรือเครือข่ายการแลกเปลี่ยนพลังงานในระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันและระหว่างชุมชนโดยรอบ ภายใต้แรงผลักดันของการลดต้นทุนโดยการแสวงหารายได้จากผลผลิตของเสีย กระทั่งประชาชนและผู้บริหารเมืองตระหนักถึงผลประโยชน์ทางสภาพแวดล้อม ประเทศสวีเดน ที่ใช้หลักการ The Hammarby Model โดยอาศัยหลักการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยี 3 ประการ ได้แก่ การผลิตและใช้พลังงาน การบริหารจัดการขยะและของเสีย และการบริหารจัดการน้ำ เยอรมัน ที่เน้นการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบครบวงจร (Circular Economy) โดยมองผ่านกระบวนการพัฒนาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสีย ขณะที่ญี่ปุ่นที่มีแนวคิดตามหลักการมุ่งเน้นการมีของเสียเป็นศูนย์ (Towards Zero Waste) เน้นการปล่อยมลพิษตามหลัก 3Rs รวมถึงประเทศจีนที่มีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบครบวงจร ที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานอย่างเหมาะสมและเป็นวงจรปิด เป็นต้น

โดยสรุปแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ประเทศต่างๆ นำมาประยุกต์ใช้นั้นได้มีทั้งแนวคิดของการพัฒนาที่มองผ่านแนวคิดการมีส่วนร่วมของสังคม การสร้างระบบเศรษฐกิจแบบครบวงจร การลดการใช้พลังงาน และของเสียตามหลัก 3Rs การใช้ทรัพยากรร่วมกันที่เกิดจากความตระหนักของสาธารณชนต่อการใช้ทรัพยากรและการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น โดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมตามบริบทของประเทศนั้น

ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดให้ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศ พ.ศ.2556-2561 คือยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) โดยมีประเด็นหลัก คือ การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อความยั่งยืน ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นหน่วยงานแรกที่ได้พยายามนำแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาปฏิบัติด้วยการดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศและเครือข่ายโดยนำแนวคิดหลักการเชิงนิเวศ อันหมายถึงนิเวศวิทยา (Ecology) และเศรษฐกิจ (Economy) มาประยุกต์ใช้ โดยมีขอบเขตของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้แก่

ระดับโรงงาน  จะเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) ระดับ GI 1 – GI 5 ตามเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม

ระดับนิคมอุตสาหกรรม จะพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งโรงงาน ชุมชน และ หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเป็น “นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเครือข่าย” หรือ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (Eco Industrial Estate & Networks)

ระดับท้องถิ่น เทศบาล อบต. อบจ. ที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ จะพัฒนาในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น ควบคู่กันไปกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นนั้นๆ สู่การเป็น “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” (Eco Industrial Town)

ระดับจังหวัด  จะต้องพัฒนาในทุกๆ ภาคส่วนให้เข้าสู่ความยั่งยืน ได้แก่ เกษตรยั่งยืน ประมงยั่งยืนท่องเที่ยวยั่งยืน และอุตสาหกรรมยั่งยืน เป็นต้น เพื่อเป็น “เมืองน่าอยู่ เมืองยั่งยืน” (Eco City)

โดย กนอ. กำหนดเป้าหมายยกระดับนิคมอุตสาหกรรม 15 แห่ง เข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี พ.ศ.2557 และนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินงานแล้วทั้งหมดจะเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีการจัดทำแผนแม่บท และเริ่มดำเนินงานตามแผนแม่บท ภายในปี พ.ศ.2562 โดยนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมนิเวศเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ กนอ. ยังได้พัฒนาตัวชี้วัดที่นำมาสู่การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 9 แผน ประกอบด้วย กระบวนการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ, ศึกษา/สำรวจสถานภาพปัจจุบันของนิคมฯ, เปรียบเทียบสถานภาพกับตัวชี้วัด, สกัด 5 ด้าน (มิติสิ่งแวดล้อม 3 ด้านและมิติอื่น 2 ด้าน) เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนายกระดับนิคมฯ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน, ศึกษาความต้องการของผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียโดยกระบวนการมีส่วนร่วม, สรุปสถานภาพ ศักยภาพในการพัฒนาและความสอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนต่างๆ กับ Road Map 5 ด้านของการพัฒนา, สรุปประเด็นพัฒนาใน 5 ด้านพร้อมกลยุทธ์ และเป้าหมาย, แผนแม่บท 5 ปี แผนปฏิบัติการประจำปี และ สุดทายคือ การรับฟังความคิดเห็น/จัดทำแผนแม่บท

อย่างไรก็ตาม การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูนให้สามารถเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำเป็นต้องอาศัยกลไกการจัดการโดยอาศัยหลักธรรมาภิบาล เพราะจากผลการศึกษาของสถาบันธรรมรัฐฯ ที่ได้ดำเนินงานวิจัย ในพื้นที่รอบบริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูน พบว่า นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยที่ผ่านมา มีการแยกส่วนระหว่างนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมกับนโยบายสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการขาดธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมในระดับพื้นที่ ดังนั้นหากนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะพัฒนาให้เกิดขึ้นได้นั้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้าใจของชุมชน อันจะช่วยให้เกิดกระบวนการพัฒนารูปแบบความร่วมมือในระดับองค์กรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เมืองลำพูนให้ไปสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยเฉพาะการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นองค์กรสำคัญที่จะต้องเข้าใจและพัฒนาศักยภาพไปพร้อมกับการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม โดยกำหนดเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหาและผลักดันนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อปัญหาและผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีอำนาจและหน้าที่หลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยังขาดขีดความสามารถและศักยภาพในการดำเนินงานที่เพียงพอ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาปรับปรุงการจัดทำตัวชี้วัดตามแผนแม่บทในประเด็นการสรุปสถานภาพ ศักยภาพในการพัฒนาและความสอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนต่างๆ กับ Road Map 5 ด้านของการพัฒนา ตามทิศทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

เอกสารดาวน์โหลด

  1. 001-Final Report.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  2. 002-Final Report.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com