ชุดโครงการ "พัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม : การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและเศรษฐกิจสีเขียว" (พ.ศ.2556 - พ.ศ.2557)


ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของชุดโครงการพัฒนาความความรู้และยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ทางด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อการเตรียมความพร้อมต่อการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและเศรษฐกิจสีเขียว และเพื่อการใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการสร้างความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน และด้านการเตรียมความพร้อมในเวทีเจรจาระหว่างประเทศ โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

1.1 การเตรียมความพร้อมในเชิงรุกเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการสร้างความร่วมมือทั้งในเชิงมาตรการและกฎหมายที่สอดคล้องกัน (Harmonization) ต่อการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดเวทีระดมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาและสังเคราะห์ให้เกิดโจทย์วิจัยทางด้านอาเซียน ร่วมกับการประมวลความรู้ที่ได้จากงานศึกษาวิจัย “โครงการศึกษาการเปรียบเทียบมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของสมาชิกประชาคมอาเซียน” โดย รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ และคณะ และ “โครงการศึกษาพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกและระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ในมิติการเมือง กฎหมาย สังคม-เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” โดย ศ.ดร.อภิชัย พันธะเสน และคณะ เพื่อจัดทำเอกสารโจทย์วิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อการเสริมความเข้าใจและความสำคัญเกี่ยวกับหัวข้อโจทย์หรือประเด็นการศึกษาเรื่องอาเซียนกับสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพื่อการเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัย (Call for Proposal) ต่อไปในอนาคต

1.2 การสร้างความร่วมมือเชิงสถาบันวิจัยระหว่างสกว.และสถาบันการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาโจทย์วิจัยภายใต้กรอบวิจัยที่อยู่ในลำดับความสำคัญ และเป็นช่องว่างทางความรู้ (Knowledge Gap) สำหรับการแปลงแผนนโยบายสู่การปฏิบัติและการสร้างสภาวะที่เหมาะสม (Enabling Environment) เอื้อต่อการดำเนินการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเครื่องมือ (Means) ที่สำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยมียุทธศาสตร์มุ่งเน้นการพัฒนาใน 2 ส่วนหลัก คือ

1) การพัฒนาโจทย์วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อเสริมความรู้ต่อการจัดทำข้อเสนอต่อการบริหารจัดการการแปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เหมาะสมของประเทศ โดยมีหัวข้อสำคัญได้แก่

- โครงสร้างองค์กรด้านการบริหารจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศ

- การศึกษากฎหมายที่เหมาะสมต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศไทย

2) การพัฒนาศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Center for Policy Research on Green Economy: PRO-Green) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสกว.และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร และการสร้างเครือข่ายด้านเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับรองรับการดำเนินงานของประเทศ

ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในส่วนนี้คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงบริหารจัดการงานวิจัย รวมถึงการเสริมสร้างนักวิจัยและบุคคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและเศรษฐกิจสีเขียวมากยิ่งขึ้น

1.3 การสร้างเครือข่ายนักวิจัย องค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบตรวจวัด รายงานและทวนสอบ (MRV) สำหรับการรายงานบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (National Inventory) และกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างเหมาะสม (NAMAs) เพื่อรองรับกับการดำเนินงานภายใต้ระบอบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หลังปี ค.ศ.2020 โดยการดำเนินงานส่วนนี้อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ซึ่งมีการขับเคลื่อนงาน ดังนี้

- การสนับสนุนงานวิจัยด้านการจัดทำระบบ MRV ที่เหมาะสมต่อประเทศไทย และรายสาขา รวมถึงการขยายผลการศึกษาสู่การใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้าน MRV รายสาขา, การสร้างศูนย์ทวนสอบ (Verify Body), การจัดทำข้อสังเคราะห์เชิงนโยบายด้าน MRV ของประเทศ, การจัดทำคู่มือ MRV รายโครงการในแต่ละสาขา

- การจัดประชุมวิชาการระดับชาติเพื่อนำเสนอและเผยแพร่งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสกว. และอบก.

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com