ชุดโครงการ "พัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมระยะที่ 4 : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน" (พ.ศ.2554 - พ.ศ.2556)


ยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ผ่านมา ในชุดโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1 และ 2 (พ.ศ.2551-2552) มุ่งเน้นการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ และนัยทางนโยบายของความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ได้แก่อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ พิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ อนุสัญญาบาเซล อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต ทำให้ได้ความรู้และข้อเสนอแนะต่อนำมาตรการและข้อกำหนดในความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย สำหรับในช่วงดำเนินงานของชุดโครงการฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2553) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเจรจาจัดทำ “ระบอบระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังปี ค.ศ.2012” จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความรู้ที่สนับสนุนการกำหนดจุดยืนและท่าทีการเจรจาของประเทศไทยเรื่องระบอบระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งข้อมูลและความรู้เพื่อการกำหนดนโยบายภายในประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเป้าหมายและแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก เรื่องมาตรการด้านการค้าและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ เป็นต้น จากยุทธศาสตร์การดำเนินงานของชุดโครงการฯ ระยะที่ 1-3 มีส่วนสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ นักวิจัยที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนโยบายและการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

สำหรับ ยุทธศาสตร์การดำเนินงานภายใต้ชุดโครงการฯ ระยะที่ 4 ได้มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานภายในประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาเครื่องมือทางนโยบายเพื่อรองรับและสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยไปสู่การปฏิบัติ โดยมียุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน คือ (1) การวิจัยและบริหารงานวิจัย (2) การสร้างเครือข่ายและขยายการใช้ประโยชน์งานวิจัย และ (3) การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเจรจาความตกลงพหุภาคีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีรายละเอียดได้ดังนี้

1. การวิจัยและบริหารงานวิจัย

สร้างองค์ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ในการเจรจาและการกำหนดจุดยืนของไทย และการดำเนินงานภายในประเทศเพื่อรองรับการจัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแยกการดำเนินงานเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.1 การสังเคราะห์ผลการศึกษาจากโครงการวิจัยภายใต้ชุดโครงการฯ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในประเทศ และการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ เกี่ยวกับประเด็นนโยบายเรื่องมาตรการด้านการค้าและเครื่องมือด้านเศรษฐศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องระบบการตรวจวัด การรายงานและการทวนสอบ (Measurable, Reportable and Verifiable : MRV) และเรื่องศักยภาพและแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสาขาการผลิตภาคพลังงาน ภาคปิโตรเคมี ภาคอุตสาหกรรมเหล็ก ภาคเกษตร ภาคป่าไม้ และภาคขนส่ง

1.2 ประสานให้เกิดงานวิจัยนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่

(1.) เรื่อง “เครื่องมือทางนโยบายและการบริหารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย ยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บทด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และด้านการปรับตัว (Adaptation) โดยมีประเด็นการวิจัยต่อไปนี้

- เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือมาตรการทางด้านการเงิน-การคลัง เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกหรือการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตัวอย่างเช่น มาตรการจูงใจด้านภาษีสำหรับเทคโนโลยีสะอาด ภาษีคาร์บอน กองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย กองทุนนวัตกรรมเทคโนโลยี ระบบพันธบัตรป่าไม้ ฯลฯ

- การใช้มาตรการในเชิงรุกทางด้านการค้า ด้านการบริการ และด้านการลงทุน เพื่อการบริหารจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

- รูปแบบกิจกรรม ความร่วมมือ การเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน (Public-Private-People Partnership) ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และด้านการปรับตัว

(2.) เรื่อง “การบริหารจัดการภาคป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมีประเด็นการวิจัยต่อไปนี้

- การดำเนินงานในระดับชาติที่เหมาะสมเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Appropriate Mitigation Actions : NAMAs) ในภาคป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศไทย โดยทำการศึกษาครอบคลุมถึงรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น กิจกรรม REDD Plus เป็นต้น หรือรูปแบบกิจกรรมที่มีการดำเนินอยู่แล้ว เช่น โครงการ CDM โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ในตลาดภาคสมัครใจ ธนาคารต้นไม้ ป่าชุมชน วนเกษตร เป็นต้น

- ระบบการตรวจวัด การรายงานและการทวนสอบ (MRV) สำหรับการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งในประเด็นด้านเทคนิค ด้านองค์กรและการบริหาร และด้านกฎหมาย

- เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือมาตรการทางด้านการเงิน-การคลัง เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

(3.) เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่สอดรับการปรับทิศทางการพัฒนาประเทศและการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจไปสู่ทิศทาง “เศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นหัวข้อการประชุมสำคัญสำหรับการประชุมขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ.2012 (หรือการประชุม Rio+20)

2. การสร้างเครือข่ายและขยายการใช้ประโยชน์งานวิจัย

โดยการสร้างและขยายความร่วมมือกับเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งในส่วนของภาครัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนภาคเอกชน เช่น เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งในภาคองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิโลกสีเขียว คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมและองค์กรเครือข่าย ฯลฯ เพื่อนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มีการจัดเวทีสาธารณะ “Global Warming Forum” นำเสนอผลการวิจัยและข้อเสนอแนะสู่ระดับนโยบาย เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอนโยบาย โดยจัดเวทีทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะในวงกว้าง

3. การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการวิจัยและการเจรจาความตกลงพหุภาคีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยมีการพัฒนาฐานข้อมูลผลการวิจัยและความก้าวหน้าของการเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวปไซด์ของชุดโครงการฯ คือ www.measwatch.org ให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มช่องทางการสื่อสารสองทางในเวปไซด์และเครือข่ายสังคม เพื่อสร้างกิจกรรมประสานความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่น การเขียนบทความเผยแพร่ทางเวปไซด์ การร่วมจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ เป็นต้น 

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com