โครงการวิจัยเรื่องเวทีสาธารณะ : จับกระแส Rio+20 สู่สังคมไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและท่าทีของประเทศไทยต่อการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Rio+20) การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย และการจัดทำประเด็นหัวข้อการวิจัยใหม่ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งควรมีการศึกษาเพิ่มเติม
(2) เพื่อสร้างความเข้าใจ ความตื่นตัว และการเตรียมความพร้อมให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม
จากการติดตามและการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นการเจรจาจากการประชุมในเวทีต่างๆ เพื่อเตรียมการประชุม Rio+20 และการศึกษาร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม Rio+20 ที่มีชื่อว่า “อนาคตที่เราต้องการ” (The Future We Want) ซึ่งใช้เป็นเอกสารหลักของการเจรจา รวมทั้งการจัดประชุมกลุ่มเฉพาะ (Focus Group) และเวทีสัมมนาภายใต้โครงการวิจัยนี้ คณะผู้ศึกษาได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับจุดยืน ท่าทีของประเทศไทยในการเจรจาต่อแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อเสนอเรื่องการกำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องการค้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อม และข้อเสนอเกี่ยวกับทางเลือกในการปฏิรูปกรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Institutional Framework for Sustainable Development, IFSD)
นอกจากนี้
คณะผู้ศึกษาได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการดำเนินงานของประเทศไทยภายหลังการประชุม Rio+20 เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งในประเด็นเรื่องการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เรื่องการเตรียมความพร้อมและการดำเนินงานของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวในบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน
เรื่องกรอบเชิงสถาบันภายในประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นหัวข้อการวิจัยใหม่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว
รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย