โครงการเรื่อง "ผลกระทบและโอกาสจากมาตรการทางการค้าของสหภาพยุโรปที่ส่งผลต่อการพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีของไทย : กรณีศึกษามาตรการตรวจสอบย้อนกลับอาหารและฉลากร่องรอยคาร์บอนในผลิตภัณฑ์อาหาร” (พ.ศ.2554)


งานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบและโอกาสจากมาตรการทางการค้าของสหภาพยุโรปที่ส่งผลต่อการพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีของไทย : กรณีศึกษามาตรการตรวจสอบย้อนกลับอาหารและฉลากร่องรอยคาร์บอนในผลิตภัณฑ์อาหาร” มีวัตถุประสงค์หลัก คือ 

(1) เพื่อศึกษาทบทวนกฏหมายและมาตรการที่เกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร และมาตรการฉลากร่องรอยคาร์บอนของสหภาพยุโรป 

(2) เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และถอดบทเรียนจากผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวจากผลกระทบจากมาตรการที่เกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับอาหารและฉลากร่องรอยคาร์บอนของสหภาพยุโรปโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 

(3) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับตัวเพื่อให้การส่งสินค้าอาหารของไทยไปยังสหภาพยุโรปมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

            ผลการศึกษามาตรการเกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร

การศึกษาด้านกฎหมายพบว่ากฎหมายสำคัญของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวกับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับอาหารในผลิตภัณฑ์อาหาร คือ Regulation (EC) No 178/2002 และ Regulation (EC) No 882/2002 ซึ่งในการดำเนินการนั้นสหภาพยุโรปมีการจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนโดยมี “คณะกรรมาธิการยุโรป” เป็นศูนย์กลางของระบบการจัดการความเสี่ยง มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของแต่ละประเทศสมาชิกไว้อย่างชัดเจนในการรับผิดชอบต่องานแต่ละประเภทรวมทั้งการประสานงานกันและการใช้ระบบเตือนภัยเร่งด่วนและสำหรับผลการศึกษาด้านเทคโนโลยีพบว่าในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้ 3 ลักษณะคือ เครื่องหมายบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ บาร์โค๊ด (BAR CODE) และ RFID (Radio Frequency Identification) จากการศึกษาในภาพรวมพบว่าเทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับเป็นประโยชน์สามารถเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ได้ ช่วยให้สามารถตามสอบถึงผู้รวบรวมและสถานแปรรูปได้ ช่วยให้ข้อตกลงระหว่างผู้ส่งออกและเกษตรกรมีความสมบูรณ์มากขึ้น สามารถใช้เป็นกลไกหนึ่งในการตัดสินข้อพิพาท ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจวัดคุณภาพสินค้า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การจัดการคุณภาพดีขึ้นและในส่วนการทบทวนและถอดบทเรียนผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวจากผลกระทบจากมาตรการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร ซึ่งงานวิจัยนี้ได้เลือกศึกษาระบบ E-Traceability ของเครือเบทาโกร เป็นกรณีศึกษานั้นพบว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน

            การศึกษาวิเคราะห์นโยบายและกลไกเชิงสถาบันของภาครัฐไทย พบว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายและยุทธศาสตร์หลักคือ ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหาร (ระยะที่ 2 : 2553-2556) มีกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ การจัดการความเสี่ยงด้านอาหารของประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้จะมีโครงสร้างองค์กรไม่ได้แตกต่างไปจากสหภาพยุโรปในแง่ของการมีหน่วยงานหลายหน่วยงานรับผิดชอบ แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ต้องประสานงานและแจ้งแก่หน่วยงานกลางเพื่อให้การทำงานมีลักษณะการบูรณาการ สิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้ในปัจจุบันเป็นเพียงการขอความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการประสานข้อมูลให้แก่กันเท่านั้น

            ผลการศึกษาด้านมาตรการฉลากร่องรอยคาร์บอน

ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวกับฉลากร่องรอยคาร์บอนของสหภาพยุโรปที่เป็นกฎเกณฑ์กลางนั้นยังไม่มีการบัญญัติขึ้นมาแต่อย่างใด คงมีแต่ของประเทศสมาชิกบางประเทศที่มีการดำเนินการทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ แต่ทั้งหมดจะเน้นไปที่การใช้ฉลากผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ สำหรับประเทศไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 มีการวางแผนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำมีการตื่นตัวในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับฉลากร่องรอยคาร์บอน แต่ไม่มีการกำหนดเป็นนโยบายหรือยุทธศาสตร์ระดับชาติโดยตรง การดำเนินการเรื่องนี้เป็นเพียงมาตรการสมัครใจ ส่วนการดำเนินการในภาพรวมพบว่า การประยุกต์ใช้ฉลากร่องรอยคาร์บอนในการประเมินและจัดการปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่ได้มีการดำเนินการตลอดห่วงโซ่การผลิตและเป็นอุปสรรคต่อ SMEs เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่เพราะ SMEs มีข้อจำกัดด้านเทคนิค บุคลากร เวลาและระบบการจัดเก็บข้อมูลเชิงตัวเลข

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com