โครงการ "การพัฒนาตัวชี้วัดการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการลดปัญหาโลกร้อนภายใต้แนวคิดภูมิปัญญาตะวันออก" (พ.ศ.2552 - พ.ศ.2553)


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างตัวชี้วัดในสังคมที่นำหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้และมีกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือลดก๊าซเรือนกระจก โดยให้ชื่อสังคมนี้ว่าสังคมคาร์บอนพอเพียง ชุมชนบ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด และ ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ตและศูนย์กีฬาดำน้ำ จังหวัดชุมพรถูกใช้เป็นตัวแทนการศึกษาของภาคชุมชนและภาคบริการตามลำดับ

จากการศึกษาพบว่าทั้งสองชุมชนศึกษามีกิจกรรมที่ช่วยลด หลีกเลี่ยงและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าค่าเปรียบเทียบ ชุมชนบ้านเปร็ดในสามารถช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.85 ตันต่อคนต่อปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในภาคการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้มีค่าเฉลี่ยประมาณ 0.83-0.91 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนต่อปี ส่วนชุมพรคาบาน่ารีสอร์ต มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเท่ากับ 14.39 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนต่อคืน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกของกิจกรรมบริการประเภทโรงแรม (20.6 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนต่อคืน) ถึงร้อยละ 30 ทั้งสองตัวอย่างแสดงให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่า กิจกรรมในสังคมคาร์บอนพอเพียงนั้นช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่าค่าอ้างอิง

นอกจากนี้ในการศึกษาเชิงผลกระทบทางอ้อม (เศรษฐศาสตร์และสังคม) พบว่ากิจกรรมในการลดก๊าซเรือนกระจกในสังคมคาร์บอนพอเพียง นอกเหนือจากการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนแล้วยังมีการใช้ทรัพยากรอย่างเข้าใจธรรมชาติ สร้างความสมดุลทางธรรมชาติ ไม่ใช้เกินขอบเขตที่ธรรมชาติจะผลิตขึ้นมาทดแทนได้ สร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของร่วมในการดำเนินการ ซึ่งจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกร่วมกันในการทำงานสาธารณะ มีเหตุมีผลในการดำเนินชีวิต รู้จักพอประมาณ ซึ่งเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต ที่นำไปสู่การลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สังคมคาร์บอนพอเพียง สามารถจัดระดับเข้าข่าย เข้าใจ และเข้าถึง ได้ตามดัชนีเศรษฐกิจพอเพียง โดยสังคมคาร์บอนพอเพียงที่อยู่ในระดับสูงนอกเหนือจากการมีปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกแล้วยังมีความสัมพันธ์กับสวัสดิการและสวัสดิภาพของสังคมตลอดจนชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ (welfare and wellbeing) ที่ดีขึ้น ซึ่งจะสวนทางกับค่าใช้จ่ายทางสังคมเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (transaction cost) เช่นมาตรการในการบังคับ (regulatory measure) และการสร้างแรงจูงใจ (regulatory incentive) ต่างๆ เกิดขึ้นน้อยลง  

สังคมคาร์บอนพอเพียง นอกจากจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยแล้วกิจกรรมในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นยังเกิดจากการความเต็มใจและความสุขอีกด้วย จุดต่างของสังคมคาร์บอนต่ำและสังคมคาร์บอนพอเพียงจึงอยู่ที่ความพอเพียงในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความพอใจและมีความสุขโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขและมาตรการต่างๆ เข้ามาบังคับ หรืออาจกล่าวได้ว่าสังคมคาร์บอนพอเพียงนั้นการลดก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นจากความสุขที่อยู่ภายในนั้นเอง

ดัชนีสังคมคาร์บอนพอเพียงแสดงทั้งกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และกิจกรรมที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจพอเพียงโดยการนำกลไกด้าน “วิธีการ” “วิธีคิด" “วิถีชีวิต” การสร้างดัชนีสังคมคาร์บอนพอเพียงจึงมีทั้งส่วนที่สามารถวัดได้จริงและส่วนที่วัดเชิงบรรยาย โดยมีดัชนีทั้งหมด 7 ดัชนี เป็นดัชนีทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก 5 ดัชนี และเป็นดัชนีที่เกี่ยวข้องทางอ้อมอีก 2 ดัชนี ได้แก่ดัชนีที่ 1 ด้านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดัชนีที่ 2 ด้านการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ดัชนีที่ 3 ด้านการใช้พลังงานทดแทน ดัชนีที่ 4 ด้านการใช้เทคโนโลยี ดัชนีที่ 5 ด้านความตระหนักรู้ ดัชนีที่ 6 ด้านรายจ่ายเพื่อการบริโภคพลังงานและทรัพยากร ดัชนีที่ 7 ด้านความสุข

การใช้ประโยชน์จากดัชนีสังคมคาร์บอนพอเพียงสามารถนำไปเป็นใช้ทั้งในเชิงนโยบายและการจัดการเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนพอเพียงทั้งในระดับระหว่างประเทศและในประเทศ และยังเป็นฐานแนวคิดในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและอุปสรรคในแง่ของการสร้างความเข้าใจและการยอมรับแนวคิดของสังคมคาร์บอนพอเพียง

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com