โครงการวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์หลักสองด้านคือ ศึกษาการจัดสรรการกระจายภาระความรับผิดชอบก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ค้า โดยใช้วิธีประเมินตามการบริโภค (Consumption-based Approach) เปรียบเทียบกับวิธีประเมินจากการผลิต (Production-based Approach) เพื่อให้ทราบว่าในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ไทยมีการรับผิดชอบแทน หรือผลักภาระให้ประเทศคู่ค้าที่สำคัญใดบ้าง และเพื่อศึกษาการกระจายของกิจกรรมการบริโภคที่เป็นสาเหตุหลักในการสร้างก๊าซเรือนกระจกในประเทศ
งานวิจัยนี้พบว่าในปี พ.ศ.2547 เศรษฐกิจของประเทศไทยต้องผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทนประเทศอื่นๆ ในรูปของการผลิตเพื่อการส่งออกสุทธิอยู่ประมาณร้อยละ 6.82 ของการผลิตที่เป็นอยู่
โดยที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามการผลิต เท่ากับ 196.52 ล้านตัน ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามการบริโภคมีปริมาณเท่ากับ 183.13 ล้านตัน เมื่อประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีประเมินตามการบริโภคแทนวิธีประเมินตามการผลิตพบว่าทำให้ภาระความรับผิดชอบในหลายสาขาลดลงมาก เช่น อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ สาขาการขนส่งอื่นๆ อาหารอื่นๆ และบริการขนส่งทางอากาศ
เป็นต้น แต่ที่จะทำให้มีภาระเพิ่มขึ้นได้แก่
แร่เหล็ก โลหะอื่นๆ
และเครื่องจักรอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ เป็นต้น
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ไทยมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการส่งออกสุทธิมากที่สุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศอาเซียน ในทางกลับกัน ประเทศไทยได้ผลักภาระก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับประเทศต้นทางการผลิต ผ่านการนำเข้าสุทธิให้กับประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด อันดับรองๆ ลงมาได้แก่ ไต้หวัน เกาหลี และ กลุ่มตะวันออกกลาง
กิจกรรมการบริโภคที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดได้แก่ การขนส่ง การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรม การก่อสร้าง สาธารณูปโภคและพลังงาน อาหาร บริการของรัฐ การค้าและธุรกิจ เครื่องนุ่งห่ม สันนทนาการและบริการอื่นๆ และที่อยู่อาศัย
สำหรับภาระความรับผิดชอบต่อก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในอนาคต ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงต้องแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนของตน ควรที่จะรับเฉพาะภาระอันเกิดจากการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย (Luxury) และควรมีการยกเว้นภาระที่เกิดจากการบริโภคเพื่อการยังชีพ (Survival) ซึ่งในกรณีของประเทศไทยจากการคำนวณเบื้องต้น พบว่าเกือบหนึ่งในสี่ของการบริโภคของไทยนั้นเป็นไปเพื่อความอยู่รอด และอีกมากกว่าหนึ่งในสี่เล็กน้อยเป็นส่วนที่ฟุ่มเฟือย