โครงการ “ข้อเสนอทางเลือกของมาตรการการป้องกันและฟื้นฟูความเสียหายจากการปนเปื้อนดินและน้ำใต้ดิน” (พ.ศ.2549 - พ.ศ.2550)


โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในดินและน้ำใต้ดินในประเทศไทยที่ยังขาดมาตรการและการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม ได้แก่กรณี (1) การปนเปื้อนของสารอินทรีย์ไอระเหย (Volatile Organic Compounds, VOCs) ในน้ำใต้ดินบริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน (2) การปนเปื้อนของสารแคดเมียมในตะกอนดินบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก (3) การประกอบกิจการฝังกลบขยะกากของเสียอุตสาหกรรมของบริษัทเบตเตอร์เวิล์ดกรีน จ.สระบุรี และ (4) การประกอบกิจการฝังกลบขยะชุมชนของสำนักงานกรุงเทพมหานคร ณ แหล่งฝังกลบ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา  

จากการศึกษาพบว่าทั้งสี่กรณีศึกษา ยังพบอุปสรรคปัญหาด้านการจัดการมลพิษ เนื่องด้วยการขาดธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม  ศักยภาพขององค์กรท้องถิ่นยังไม่เพียงพอในการติดตามตรวจสอบปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความรู้ทักษะด้านการตรวจสอบปัญหามลพิษ นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลยังขาดความมีเอกภาพในการตรวจสอบ ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษยังประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในภาพรวมของมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน  ประกอบด้วย

มาตรการป้องกันเพื่อป้องกันปัญหา เริ่มตั้งแต่การออกใบอนุญาตและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)  ต้องให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตตรวจสอบและกลั่นกรองคัดเลือกอุตสาหกรรมที่มีความคุ่มค่า รวมถึงการทำ EIA ควรให้มีหน่วยงานกลางว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาโดยไม่ผ่านจากบริษัทเจ้าของโครงการ ตลอดจนให้ปรับอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานให้มีความชัดเจน และมีความเป็นเอกภาพในเรื่องการอนุญาต และกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม  เพื่อป้องกันการทำหน้าที่ทับซ้อนกัน  (Conflict of Interest) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการถ่วงดุลและคานอำนาจ (check and balance) นอกจากนี้เสนอให้มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตและการกำหนดเงื่อนไขการควบคุมมลพิษ ต้องผ่านขั้นตอนการกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนควรให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และวิธีการวัดและปฏิบัติที่มีกฎเกณฑ์เดียวกัน รวมทั้งเสนอ ให้มีการนำมาตรการการตรวจสอบที่ดิน (soil audit)  มาใช้ โดยกำหนดกฎหมายหรือข้อบังคับให้มีการตรวจสอบคุณภาพดินและแหล่งน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ก่อนมีการเปลี่ยนเจ้าของที่ดิน เพื่อเป็นการสร้างความรับผิดชอบให้กับคนที่ใช้พื้นที่ดินในบริเวณนั้น

สำหรับการการตรวจสอบการทำงานเสนอให้เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องกำกับดูแลเอาผิดอย่างเข้มงวด และให้ปรับบทบาทความรับผิดชอบในเรื่องการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ตรวจสอบดูแลโดยตรง ในกรณีที่มีการค้นพบหรือยืนยัน (identify) ปัญหาการปนเปื้อน เสนอให้มีการสำรวจแหล่งที่มีการปนเปื้อนที่เป็นระบบ รวมทั้งมีการจัดทำ National Priority List หรือ NPL ซึ่งเป็นบัญชีจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน  

มาตรการการแก้ปัญหา ประกอบด้วยมาตรการระยะสั้น คือ ให้มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบโดยตรง และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ตลอดจนมีกองทุนเพื่อนำเงินมาใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยาผู้เสียหายในกรณีเร่งด่วน สำหรับ มาตรการระยะยาว  เสนอให้มีการบริหารจัดการกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ โดยมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมหรือระบบการประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม และ เสนอให้มีหน่วยงานกลางที่มีความรู้ทางเทคนิคในการกำหนดและประเมินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับประเทศ รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ควรนำหลักผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ (PPP) มาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิผลตลอดจนลดปัญหาความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรม  

การติดตามประเมินผลและเฝ้าระวังหลังเกิดปัญหา ควรดำเนินการเป็นระบบ คือ ระดับชาติให้มีเจ้าภาพ ในการประสานงานและติดตาม ตรวจสอบปัญหา และระดับพื้นที่ ให้สร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นอกจากนี้ควรมีการสร้างฐานข้อมูลและการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะไปโยงกับการตรวจสอบการทำงาน (Database & information disclosure)

เอกสารดาวน์โหลด

  1. 1-ปกรายงานfinal.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  2. 2.บทสรุปผู้บริหาร.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  3. 3.บทคัดย่อ.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  4. 4.สารบัญ.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  5. 5-บทนำ.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  6. 6-บทที่ 2กรณีลำพูน.fianl.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  7. 7-บทที่ 3กรณีศึกษาผาแดง.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  8. 8-บทที่ 4 better world green.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  9. 9-บทที่ 5 การจัดการขยะมูลฝอยโดยรวม.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  10. 10-บทที่ 6 การจัดการดินและน้ำใต้ดินในต่างประเทศ.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  11. 11-บทที่ 7 วิเคราะห์และเสนอแนะภาพรวม.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  12. 12.เอกสารอ้างอิง.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  13. 13.ภาคผนวก ก กฏหมายญี่ปุ่น.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  14. 14.ภาคผนวก ข.final.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com