โครงการ "การเพิ่มศักยภาพและการวางยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการดำเนินโครงการ CDM" (พ.ศ.2546 - พ.ศ.2548)


รายงานการวิจัย เรื่อง “การเพิ่มศักยภาพและการวางยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการดำเนินโครงการ CDM” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสนอยุทธศาสตร์ในการดำเนินโครงการ CDM ของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมายและกรอบกติกาต่างๆ เพื่อที่จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการเจรจาต่อรองในเรื่องต่างๆ และเป็นฐานการตัดสินใจเลือกโครงการที่จะก่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศโดยรวม โดยการศึกษาได้ใช้วิธีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับ CDM ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนทบทวนและวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมการของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ

ผลการศึกษาพบว่าแม้การดำเนินโครงการ CDM จะก่อให้เกิดผลดีในแง่ที่ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในด้านต่างๆ ที่เป็นโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประทศ เป็นผลให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการได้มาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเงื่อนไขของพิธีสารเกียวโตที่กำหนดไว้ แต่ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงกรณีที่เราอาจต้องมีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต และการเสียโอกาสในด้านอื่นๆ หากเร่งรีบดำเนินโครงการ CDM ณ ขณะนี้โดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางพื้นฐานที่จะนำไปสู่การคัดเลือกโครงการ CDM ที่จะให้มีการดำเนินการที่เหมาะสมและมีกรอบกติกาที่กำหนดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในใบรับรองหรือ CERs ระหว่างสิทธิของภาครัฐกับสิทธิของเจ้าของโครงการ CDM นอกจากนี้ กรอบกติกาดังกล่าวจะต้องสามารถทำให้กระบวนการในการดำเนินโครงการ CDM เป็นกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน มีความโปร่งใส มีกลไกในเชิงสถาบันที่สามารถตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้

ข้อเสนอของการวิจัย ประกอบด้วยดังนี้

(1) รูปแบบทางเลือกขององค์กร CDM แห่งชาติ ควรมีดังนี้ คือ ต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถใช้อำนาจรัฐได้ ควรเป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งอาจมีสถานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ องค์กรดังกล่าวจะต้องสามารถกระทำการแทนประเทศไทยได้ภายใต้พิธีสารเกียวโต มีความรับผิดชอบ มีกระบวนการและวิธีการในการปฏิบัติการที่ชัดเจนและโปร่งใส มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะออก CERs ได้ และมีความเป็นเอกเทศ หรือมีความเป็นอิสระ โดยทั้งนี้ผู้วิจัยเห็นว่าควรให้รัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการออกใบรับรอง เนื่องจากมีผลผูกพันและกระทำการแทนประเทศไทยและยังมีอำนาจในการบังคับตามดุลพินิจด้วย กล่าวคือสามารถใช้อำนาจในเชิงบริหารกำกับให้หน่วยงานใต้สังกัดและต้องมีความรับผิดชอบทั้งในเชิงกฎหมายและการเมือง ทั้งนี้เสนอว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทำการในฐานะที่เป็นองค์กร CDM แห่งชาติ

(2) กระบวนการในการประเมินและรับรองโครงการ CDM ควรมีการดำเนินการโดยการอนุมัติโครงการ CDM ก่อน แล้วกำกับดูแลไปจนตลอดโครงการมีการพิจารณาโดยใช้หลักการ ที่ประกอบด้วย การพัฒนาที่ยั่งยืน การดำเนินการเพิ่มเติมจากการดำเนินการตามปกติผลลัพธ์ที่เกิดต้องได้ประโยชน์ในระยะยาว การเข้ามีส่วนร่วมของประชาชน การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ทั้งนี้รูปแบบทางเลือกกระบวนการในประเมินและรับรองโครงการที่เหมาะสมคือ การพิจารณาโครงการก่อนและควบคุมการดำเนินการตามโครงการเพื่อให้องค์กร CDM แห่งชาติซึ่งทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษา ได้ทำการกระจายอำนาจและจัดทำกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(3) แนวทางการพิจารณาโครงการ CDM ควรคำนึงถึงผลประโยชน์และศักยภาพของประเทศไทยเป็นหลัก โดยสามารถจำแนกโครงการ CDM ได้เป็นสองประเภท ได้แก่ ประเภทแรกเป็นโครงการที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้เองและใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ประเภทสอง คือโครงการที่ใช้เทคโนโลยีและเงินลงทุนสูง โดยในการวิจัยนี้เสนอว่า โครงการที่ควรได้รับการจัดลำดับสูงในการทำ CDM คือ โครงการเพิ่มหรือปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง และภาคการผลิตไฟฟ้า โครงการด้านการสับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม โครงการด้านพลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตไฟฟ้า โครงการด้านการกักเก็บก๊าซชีวมวลในภาคการจัดการของเสีย และโครงการด้านการผลิตพลังงานจากการเผาขยะในการจัดการของเสีย ส่วนโครงการที่ควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญต่ำ คือโครงการประเภทแหล่งรองรับคาร์บอน

(4) เกณฑ์การพิจารณาโครงการ ควรประกอบด้วย

4.1 การดำเนินการเพิ่มเติมจากผลการดำเนินการปกติ (Additionalities) ในเรื่องต่างๆ ดังนี้

4.1.1 Environmental additionality โครงการ CDM ต้องสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในระยะยาว และต้องสามารถวัดปริมาณได้ โดยทั้งนี้ต้องพิจารณาบนฐานของ baseline เป็นหลัก

4.1.2  Financial additionality เงินทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการ CDM จะต้องไม่ใช่เงินที่ได้จากความช่วยเหลือระหว่างประเทศ (ODA) และ Bilateral funding

4.1.3 Technological additionality การดำเนินกิจกรรมต่างๆของโครงการ CDM จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

4.2 การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยโครงการที่เสนอเพื่อพิจารณาจะต้องมีการวิเคราะห์ผลได้ผลเสีย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

4.3 การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผู้เสนอโครงการจะต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อันเกิดจากการดำเนินโครงการทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการ นอกจากนี้กระบวนการในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายและมีความโปร่งใส

เอกสารดาวน์โหลด

  1. 1-ปก สกว.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  2. 2-บทคัดย่อ-T.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  3. 3-บทคัดย่อ-E.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  4. 4-กิตติกรรมประกาศ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  5. 5-excecutive full.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  6. 6-report CDM สมบูรณ์.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  7. 7-report CDM-reference.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  8. 8-ภาคผนวกCDM.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com