โครงการวิจัยและการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การตั้งกองทุนและมาตรการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภายใต้การมีธรรมาภิบาล” (พ.ศ.2546 - พ.ศ.2547)


ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการเงินต้องปิดตัวลง โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็มีปัญหาต้องปลดพนักงานหรือปิดตัวลง ทำให้เกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs กลับเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจระดับชาติ และทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตหลักของประเทศ

ที่ผ่านมา SMEs มีแนวโน้มขยายตัวมาตลอด ส่วนหนึ่งเนื่องจากความตื่นตัวของภาคธุรกิจและประชาชนและอีกส่วนหนึ่งจากนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2545 มีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งสิ้น 1,639,427 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.63 ของวิสาหกิจรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 840,394 รายจากปี 2540 ซึ่งมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 799,033 ราย ทั้งนี้เพื่อให้ SMEs มีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริม SMEs ภายใต้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. โดยอาศัยพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ขึ้นมา และทาง สสว.ก็ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ของ SMEs ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ คือการเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะละเลยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าการขยายตัวทางธุรกิจในระยะสั้นอาจกระทำได้โดยผู้ประกอบการสามารถผลักภาระของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปสู่สังคม แต่ในระยะยาวผลกระทบเหล่านั้นย่อมกลับมาสู่ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ซึ่งหากจะต้องมีการแก้ไขในภายหลัง แทนที่จะเป็นการป้องกันไว้ก่อน กลับจะทำให้ต้นทุนที่เกิดขึ้นสูงกว่าและส่งผลร้ายต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจได้ ดังนั้นถ้าจะมองแบบผิวเผินประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ก็อาจกลายเป็นภาระต้นทุนส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการ แต่ถ้าจะมองอย่างมีวิสัยทัศน์และเน้นความยั่งยืนของการพัฒนาแล้ว ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็น "ยุทธศาสตร์" ที่สำคัญในการแข่งขันต่อไปในอนาคต เพราะหลายประเทศ เช่น ใน EU จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก สำหรับการที่ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้

นอกจากนี้ยังมีข้อพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การดูแลสิ่งแวดล้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาจไปด้วยกันได้ เป็นในลักษณะการได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น แนวคิดด้าน eco-efficiency ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีที่สะอาด (CT) มาช่วยลดการใช้ผลผลิต และประหยัดพลังงาน ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนแล้ว ยังเป็นผลดีต่อ สิ่งแวดล้อมด้วย เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนา SMEs มีความยั่งยืน จำเป็นจะต้องพิสูจน์ว่ากระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนทางสังคมและเป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs จึงควรตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และมีองค์ความรู้ในการพัฒนาหลายด้าน คือคุณภาพสินค้าและบริการ การตลาด และคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไป

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com