กกพ.มองเวที COP27 พลังงานทางเลือก คือทางรอด เศรษฐกิจ BCG ตอบโจทย์ไทย


เวทีเสวนา “จากกลาสโกว์ถึงอียิปต์ นัยยะต่อนโยบายโลกร้อนไทยและโลก” เห็นพ้องโลกมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด กกพ.ชูประเด็นพลังงานทางเลือก คือทางรอด เศรษฐกิจ BCG ตอบโจทย์ไทย และคาร์บอนต้องมีราคา ดร.เสรี มองก่อนจะไปถึงเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน หน่วยงานรัฐต้องมีเอกภาพ แก้ต้นตอปัญหาโลกร้อน

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ จากกลาสโกว์ถึงอียิปต์ นัยยะต่อนโยบายโลกร้อนไทยและโลก ว่าการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ที่เมืองชาม เอล ชีค ประเทศอียิปต์

ในปีนี้ให้น้ำหนักหน้าที่ “เร่งรัด กระตุ้น ติดตาม และกดดัน” โดยมีข้อเรียกร้องและมีมติที่สำคัญในประเด็น ประเทศร่ำรวยควรต้องจ่ายเงินชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อช่วยประเทศยากจน หลังเปิดฉากพูดคุยให้ชาติร่ำรวยชดเชยให้กับชาติยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน

มากไปกว่านั้นคือท่าทีของคณะเจรจาของไทยต่อข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) รวมถึงการดำเนินการภายใต้ข้อ 8 ของความตกลงปารีส และข้อตกลงกลาสโกว์ และประเด็นที่น่าจับตามองหลังจากนี้คงอยู่ที่นโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี 2564-2573 ซึ่งเดิมอยู่ที่ 20-25% การขยับตัวเลขไปเป็น 40% ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร

นอกจากนี้ไฮไลต์ที่เป็นข้อสรุป 17 หัวข้อ ที่ส่วนใหญ่หยิบยกประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมกลาสโกลว์ปีที่แล้ว ที่นอกจากการติดตามความคืบหน้ามติเป็นกลางทางคาร์บอน ยังมีประเด็นที่น่าติดตามที่เวทีอียิปต์ในปีนี้

ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอุณหภูมิโลกที่ยังคงเป้าหมายที่ 1.5 องศา ต้องลด GHGs 43% จากระดับปล่อย 2019 ภายในปี 2030 ความสำคัญของ Clean Energy Mix Low emission and renewable energy และการจัดตั้งกองทุนใหม่ อีกทั้งยกระดับความสำคัญ เรื่องของการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม ที่แต่เดิมโลกของพลังงานฟอสซิลไม่เป็นผู้ร้าย เเละมีความสำคัญ

แต่ปัจจุบันเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป จากคนทำงานอยู่ในสายการผลิตรถยนต์สันดาป ปัจจุบันหากมีความจำเป็นจำต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้อีวี ในหนึ่งครอบครัวอาจต้องตกงาน สิ่งเหล่านี้จะร่วมกันเปลี่ยนผ่านไปอย่างไร หากต้องมองทั้งปัจจัยระหว่างเชิงเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้สมดุล เป็นธรรม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

“เวที COP27 มีข้อถกเถียงกันว่า โลกยุคปัจจุบันกำลังเผชิญและต่อสู้กับการผลักดันในด้านเมกะเทรนด์ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพราะปัญหาเรื่องโลกร้อนล้วนมาจากภาคพลังงาน ซึ่งปล่อย 70% ต่อคนทั้งโลก ปีนี้ความเข้มข้นเริ่มส่งแรงกดดันให้กระตุ้น ทุกประเทศเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด จากที่เคยเป็นทางเลือก ยังมีกำลังผลิตที่น้อยมาก ด้วยสัดส่วน 13% จากนี้จะต้องเป็นพลังงานเลือกเพื่อหาทางรอด

และจำเป็นอย่างมากต่อเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน และเน้นย้ำว่าปีนี้เป็นทศวรรษที่เข้าขั้นวิกฤต หากไม่ทำอะไรเลย ขณะเดียวกันความยากในการกำหนดที่อยู่นอกเหนือเวทีเจรจาคือ บริบทในปีนี้มีฉากหลังจากปัญหาสงคราม ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะยุติการใช้ถ่านหินได้ในทันที”

ทั้งนี้ COP ที่มีการประชุมทุกปีเป็นหนึ่งในเวทีเจรจาเท่านั้น แต่จากการที่ EU ออกมาตรการ Green Deal หรือแม้แต่สหรัฐตั้งเป้าหมายลดคาร์บอน ส่งผลอย่างมากต่อสินค้าและการปรับตัวธุรกิจทุกประเทศ ดังนั้นปัญหาของการมุ่งไปสู่เป้าหมายแต่ละประเทศมีบริบทต่างกัน โดยจะเห็นว่าจีนเเละสหรัฐแม้จะขัดแย้ง แต่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมถือว่ามีความร่วมมืออย่างดี

ส่วนประเทศไทยเองจะเริ่มเห็นข้อเรียกร้องพลังงานสะอาด เงื่อนไขที่กดดันผู้ประกอบการที่ต้องผลิตสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนของไทยเดินหน้าแผนอย่างรวดเร็วไปพร้อมนโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ดี บทบาทของกระทรวงพลังงาน มีแผนพลังงานชาติ ที่มี 5 แผนย่อย ในการลดการใช้พลังงาน ซึ่งมีทั้งแผนลดการใช้ถ่านหิน เช่น โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯเองมุ่งสู่พลังงานสะอาด รัฐบาลมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ EV และลดพลังงานจากภาคขนส่ง เอกชนมีโครงการและปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ทุกภาคส่วนต่างมีแผนเดียวกัน

โดยท้ายที่สุด โมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นั้นเดินมาถูกทางและจะตอบโจทย์ประเทศไทยและบูรณาการเรื่องสภาพภูมิอากาศได้ และจากนี้วิกฤตจะสร้างโอกาสในการลงทุนธุรกิจสีเขียวให้และทำให้คาร์บอนมีราคา โดยต้องอาศัย มาตรการดึงดูด อาทิ คาร์บอนแทกซ์ คาร์บอนอินเทนซีฟ คาร์บอนฟันด์ คาร์บอนบอนด์ รื้อและสร้างระบบโครงสร้างและแผน อีกทั้งบทบาทของกรมโลกร้อนที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ จะช่วยและเพิ่มบทบาทนโยบายอย่างไร

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยทำงานอย่างต่างคนต่างทำ เพราะด้วยนโยบายและทางปฏิบัติยังไม่มีเอกภาพ ซึ่งระหว่างทางก่อนจะไปถึงเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน ยังท้าทายอย่างมาก เพราะโดยปัญหาหลักไม่เพียงแต่มาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ซึ่งตั้งแต่ต้นปี เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากปัญหาเหล่านี้ หากไม่แก้ไขที่ ต้นตอ ที่มาจาก การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ผิดพลาด ขาดการวางแผนการเจริญเติบโตของผังเมือง การเปลี่ยนแปลงข้อมูลประชากร ธรรมาภิบาลที่ล้มเหลว และการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก

“สิ่งที่สะท้อน เวที COP27 ผมมองว่ามีการพูดถึงประเด็นที่นอกเหนือจากพลังงานที่น่าสนใจ เป็นเรื่องน้ำและการกระตุ้นคนรุ่นใหม่ และแม้ว่าจะเดินตามเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ปัญหาอยู่ที่ ระหว่างนี้ จะเดินไปอย่างไร หากอุณหภูมิโลกที่ถูกกำหนดว่าต้องน้อยกว่า 1.5 องศา แต่ด้วยปัจจัยที่กล่าวมานั้น

สถานการณ์ปัจจุบัน โอกาสเป็นไปได้ยากมาก และในฐานะที่อยู่ในคณะกรรมการ 3 ชุด การพบกันของหน่วยงานสิ่งแวดล้อมกลับยากลำบาก ขาดเอกภาพ และอยากให้ท้องถิ่นจัดการเองได้ และมีบทบาทที่ไม่ใช่เพียงภาคธุรกิจ”

ดร.สิริภา จุลกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาร่วมกับหลายหน่วยงาน พบว่า จากแผนพลังงานและนโยบายปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ที่จะบรรลุ Carbon Neutrality ในภาคพลังงาน ซึ่งแนวคิดไม่ควรที่มุ่งไปเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ อาทิ มลพิษทางอากาศ ลดความเสี่ยงด้านราคาจากการต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และกระตุ้นการจ้างงานที่มาจากพลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์และพลังงานลม เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจพลังงานสะอาด

นางนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า จาก COP26-27 รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ มีแนวคิดให้ปรับเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร โดยโฟกัสไปที่การปล่อยก๊าซมีเทนที่ปล่อยถึง 20 เท่า

ซึ่งความท้าทายในการประชุมประเทศอียิปต์ ในปีนี้ ยังสานต่อสร้างความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีกรอบหารือ อาทิ ข้อมูลเชิงวิทยาศาตร์ และความเร่งด่วน แผนงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก

โดยสิ่งที่น่าสนใจ มีข้อถกเถียงการใช้ถ่านหิน ลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในการเจรจายังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและหลายประเทศยังมีความจำเป็นต้องใช้ ถัดมาเป็นเรื่องของการตั้งกองทุน และ ประเด็น Loss and Damage หากบางเกาะ หรือบางประเทศไม่ได้ก่อมลพิษขึ้นมา จะสามารถเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเยียวยาอย่างไรได้บ้าง

แต่ในทางกลับกัน ก่อนหน้านี้มีหลายกองทุนอยู่แล้ว อาทิ กองทุนเพื่อการปรับตัวสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างมาก ดังนั้น การที่จะตั้งขึ้นมาใหม่อีกนั้นจะพิจารณาจากอะไร ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ ใครต้องจ่ายเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ การประชุมครั้งล่าสุดประเทศใหญ่ ๆ อย่าง จีน ยังเดินหน้าสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจก ไม่มีท่าทีของการก้าวกระโดด ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ส่วนอินเดียยังมองในมุม ที่ว่ายังสามารถพัฒนาได้อีก ยอมรับกติกาสากล

วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch Thailand มองว่า ความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นในเวที COP27 ปีนี้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะกองทุนใหม่ ที่ในการเจรจาครั้งนี้เห็นความพยายามของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่พยายามที่ทำลายระบบการจ่ายเงิน

หมายความว่ากองทุน Climate Finance ที่จะเกิดขึ้นในเวที COP27 ถูกดึงเวลาออกไป เหลือเป็นเพียงแค่การตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการกำกับดูแลกองทุน ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้มีส่วนอย่างมากที่สุดต่อการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คุณวนันเลยบอกว่า เงินในวันนี้จากประเทศพัฒนาแล้วไม่ใช่เงินบริจาค แต่คือการจ่ายหนี้ที่เกิดจากการก่อกิจกรรมในอดีต

อีกทั้งปีนี้มีบรรยากาศการถูกจำกัดสิทธิภาคประชาสังคมค่อนข้างมาก เห็นด้วยกับการเจรจาต่อจากกลาสโกลว์ถึงอียิปต์ที่ตั้งเป้ารักษา อุณภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศา ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลยโอกาสที่จะมากกว่าเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้นต้องมีแผนกักเก็บคาร์บอน ขณะที่ความท้าทายที่ไม่ยังมีข้อท้วงติง จะเป็นประเด็นเชิงเทคโนโลยีเชิงวิศวกรรมและธรณี เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งการกักเก็บคาร์บอนที่อาศัยเทคโนโลยีขนาดใหญ่ยังอันตรายต่อท้องทะเลและมหาสมุทร อีกทั้งตั้งข้อสังเกตกลุ่มทุน เพื่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องทำเพื่อการค้า นอกเหนือจากนั้นควรเปิดทางให้กลุ่มเล็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า อบก.ช่วยภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันมุ่งสู่เป้าหมาย โดยเป้าหมายการลดคาร์บอน 388 ล้านตันต่อปี โดยมีโครงการคาร์บอนเครดิตเข้าร่วมแล้ว 300 กว่าโครงการ มีทั้งเทศบาลถึงบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายนั้นควรไม่ใช่คนใดคนหนึ่งต้องทำ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกัน เหมือนเรือที่กำลังจะรั่วแล้วต้องช่วยกันวิดน้ำ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com