เปิดเวที TCAC “อนาคตไทย อนาคตโลก : โอกาสและความรับผิดชอบ” ตอกย้ำจุดยืนลดโลกร้อน


“อนาคตไทย อนาคตโลก : โอกาสและความรับผิดชอบ (Our Future : Our Responsibility, Our Opportunity)”

หัวใจสำคัญของการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference) หรือ TCAC ที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 5-6 ส.ค.2565 มีผู้แทนเอกอัครราชทูต องค์การระหว่างประเทศประเทศต่างๆกว่า 100 ประเทศเข้าร่วม และในส่วนของประเทศไทย มีคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรอิสระ องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

โดยเวทีนี้เป็นการจำลองรูปแบบของการจัดประชุม COP หรือการประชุม สมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก มาจัดที่ประเทศไทย

เป้าหมายเพื่อแสดง “จุดยืน” ของประเทศไทยในการ “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” อย่างจริงจัง หลังจากที่ประเทศไทยไปประกาศเจตนา รมณ์ ในการมุ่งสู่การยกระดับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเต็มที่ทุกวิถีทางในที่ประชุม COP26 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

“ปัญหาระดับโลกนี้ รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ให้ความสำคัญและเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะในเวที COP26 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี เดินทางไปประกาศเจตนารมณ์ด้วยตัวเอง ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 นี่จึงเป็นจุดยืนสำคัญของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเพื่ออนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน ผ่านการประชุม TCAC เวทีสำคัญครั้งแรกในประวัติ ศาสตร์ของประเทศไทย” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าว

การจัดประชุม TCAC ที่จะมีขึ้นครั้งนี้จะมีการจำลองรูปแบบของการจัดประชุม COP ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก ย่อส่วนลงมาเป็นเวทีระดับประเทศในการนำเสนอเป้าหมายและทิศทางการทำงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจากแต่ละจังหวัดของประเทศไทยและประเทศที่เข้าร่วมเพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนของแต่ละประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว อีกทั้งจะเป็นเวทีในการกระตุ้นให้ภาคเอกชนหรือภาคการปลดปล่อยมีการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“ผลสรุปที่ได้หลังจบการประชุมจะนำไปเสนอต่อที่ประชุม COP 27 ที่ประเทศอียิปต์ ช่วงเดือน พ.ย. 2565 เพื่อเป็นการตอกย้ำต่อประ ชาคมโลกว่าประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1.8% แต่เป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ ได้มีการตื่นตัวและดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ดังที่ได้ให้สัญญาไว้ต่อนานาอารยประเทศและถึงเวลาแล้วที่นานาอารยประเทศจะต้องทำตามเงื่อนไขที่ได้ให้ไว้เช่นกัน” นายวราวุธ ระบุ

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวถึงการเตรียมการจัดประชุม TCAC ว่า การประชุม TCAC มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เป้าหมาย Net Zero 2065 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของไทยในเวทีโลก” ในวันที่ 5 ส.ค.ที่ Paragon Hall ศูนย์การค้าสยามพารากอน

กิจกรรมสำคัญภายในงาน ประกอบด้วยสารจากเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงประเทศไทย ถ้อย แถลงของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่จาก 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพ มหานคร ชลบุรี ขอนแก่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ ถ้อยแถลงของเอกอัครราช ทูตจากประเทศที่มีความร่วมมือหรือมีศักยภาพในการสนับสนุนการขับ เคลื่อนการดำเนินงานของไทย การกล่าวถึงความสำคัญของการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย รมว.ทส. และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ความเป็นกลางทางคาร์บอน กับความเป็นกลางทางกรรม โดยพระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ทั้งยังมีถ้อยแถลงจากผู้แทนเยาวชน องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน ซึ่งนับเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย

รวมถึงตลอดทั้ง 2 วันของการจัดประชุม ยังมีการเสวนาในหัวข้อสำคัญที่ครอบคลุมในทุกมิติ อาทิ “เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ” “ธุรกิจไทยกับการร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน” “การบูรณาการสู่การดำเนินงานระดับจังหวัด” “พลังงานและการขนส่งที่ยั่งยืน” “ป่าไม้และการกักเก็บคาร์บอน” “บริการด้านภูมิอากาศและภูมิคุ้ม กันภาคเมือง” “เยาวชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” “ตลาดคาร์บอนเครดิต โอกาสการค้าไทยในโลกยุคใหม่” และ “ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนานนำเสนอตัวอย่างการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีการเงิน ความร่วมมือเพื่อสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนในธรรมชาติ

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่าการประชุม TCAC ถือเป็นเวทีสำคัญในการดูแลแก้ปัญหาโลกร้อน

เพราะวิกฤติโลกร้อน ไม่ใช่ปัญหาของภาครัฐ หน่วยงานใดหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนทั้งประเทศไทยและทั้งโลกต้องร่วมแรง ร่วมใจ รวมพลังช่วยกันเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต

เมื่อวันนี้โลกป่วยไข้จากน้ำมือมนุษย์เป็นปัจจัยหลัก มนุษย์ก็ต้องรับผิดชอบและช่วยกันเยียวยารักษาโลกใบนี้ไว้ให้ได้ด้วยเช่นกัน.

ที่มา : ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม ,ไทยรัฐฉบับพิมพ์ วันที่ 19 กรกฎาคม 2565

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com