วันสิ่งแวดล้อมโลก : เรามีโลกเพียงใบเดียว ผู้กำหนดนโยบายต้องทำหลายอย่าง เพื่อส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม


วันที่ 5 มิถุนายนปี 2022 นี้ ครบรอบ 50 ปี World Environment Day หรือวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) จัดตั้งขึ้นในปี 1972 พร้อมจัดการประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UN Conference on the Human Environment) ในวันที่ 5-16 มิถุนายน 1972 ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ก็ถูกตั้งขึ้นมาจากการประชุมครั้งนั้น เพื่อเป็นองค์กรย่อยของสหประชาชาติที่ดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

สำหรับวาระครบรอบ 50 ปี วันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ ประเทศสวีเดนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติอีกครั้ง ในชื่อ Stockholm+50

ธีมวันสิ่งแวดล้อมโลกในช่วงเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นประเด็นความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ในปี 1977 มุ่งเน้นประเด็นการลดลงของปริมาณก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศ และในปี 1983 เน้นที่การแก้ปัญหาฝนกรด ปี 1989 เป็นธีมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งยังเป็นวาระที่เราต้องให้ความสำคัญกันอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนธีมวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้คือ Only One Earth ที่มุ่งเน้นสื่อสารให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน กระตุ้นเตือนว่าเรามีโลกเพียงใบเดียว เราต้องช่วยกันเร่งดูแลและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โลกของเราเป็นโลกที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอันหลากหลาย

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ World Environment Day บอกไว้ว่า การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนนั้นต้องให้รัฐบาลเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพราะมีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถดำเนินการข้ามไปมาระหว่างหลายภาคส่วนในหลายๆ ระดับได้ ทั้งในระดับสากล ระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาค ดังนั้น การที่รัฐบาลออกนโยบายที่มีความทะเยอทะยานและมีความสม่ำเสมอ บวกกับการดำเนินการอย่างมุ่งมั่น จึงเป็นสิ่งสำคัญ

พร้อมทั้งบอกว่า วันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้นำและรัฐบาลทั่วโลกในการเพิ่มความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่วิธีที่เป็นมิตรมากขึ้น และดำเนินการตามนโยบายที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่โลกเราเผชิญอยู่ได้

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติในธีม Only One Earth สำหรับวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ มีคำแนะนำสำหรับรัฐบาล หรือผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยโลกให้พ้นวิกฤติ ดังนี้

ปิดช่องโหว่การปล่อยมลพิษทางอากาศ

เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติด้านสภาพอากาศ โลกเราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องลง 45 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 และลดลงจนการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งจะสามารถทำได้ถ้ารัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มความมุ่งมั่นที่เคยตกลงไว้ภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้

ยกตัวอย่างสิ่งรัฐบาลสามารถทำได้ เช่น

  • รัฐบาลต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยให้การดำเนินงานในแต่ละวันของหน่วยงานรัฐบาลทั้งหมดลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030
  • เข้าร่วม สนับสนุนการเงิน และดำเนินการนโยบายระดับชาติ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีส
  • เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • แนะนำนโยบายที่จูงใจให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
  • การเก็บภาษีคาร์บอน และการเพิ่มราคาคาร์บอน จะจูงใจให้อุตสาหกรรมต่างๆ พัฒนากระบวนการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ
  • ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน ด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และด้านการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการเกษตรที่ชาญฉลาดและยั่งยืน
  • ยุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่า
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเงินของรัฐบาลทั้งหมด รวมถึงเงินบำนาญ เงินออม และประกัน ลงทุนในกิจการที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืน และไม่เป็นอันตรายต่อสภาพอากาศ สุขภาพของมนุษย์ หรือธรรมชาติ
  • ใช้อำนาจการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น โรงอาหารของหน่วยงานรัฐเลือกจัดซื้อเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำ และจูงใจให้บุคลากรเดิน ปั่นจักรยาน และใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางไป-กลับที่ทำงาน เป็นต้น


ปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ

รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อหยุดยั้งความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ และฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งบนบก และในทะเล ซึ่งที่ผ่านมาเราพลาดเป้าที่ตั้งไว้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ใหม่จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากแผนปฏิบัติการที่แข็งแกร่ง และการสนับสนุนทางการเงิน

ตัวอย่างสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ เช่น

  • เป็นผู้นำในการยอมรับข้อตกลง และดำเนินการตามกรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกหลังปี 2020 ที่มีความทะเยอทะยานและครอบคลุม เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และฟื้นฟูความหลากลายทางชีวภาพกลับคืนมา
  • ประกาศการสนับสนุนแผน UN Decade on Ecosystem Restoration 2021-2030 และดำเนินการเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ 1,000 ล้านเฮกตาร์ทั่วโลก
  • ยกเครื่องระบบบัญชีแห่งชาติ เพื่อให้ ‘ทุนธรรมชาติ’ (natural capital) เป็นหัวใจสำคัญของการประเมินความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ และใช้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางในนโยบายเศรษฐกิจ
  • เริ่มการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและเงินอุดหนุน ไม่ให้การสนับสนุนกิจการที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
  • ปฏิบัติตามปฏิญญากลาสโกว์ด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้
  • มีส่วนร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจวิธีเสริมสร้างการปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบนิเวศ


นอกจากการกำหนดนโยบายที่มุ่งเป้าหมายบังคับใช้กับภาคธุรกิจหรือระดับองค์กรต่างๆ แล้ว รัฐบาล-ผู้กำหนดนโยบายสามารถ (และควร) ส่งเสริมวิถีการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันปกป้องโลกด้วย

เพราะกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรากิน วิธีที่เราเดินทาง สถานที่ที่เราอาศัยอยู่ สิ่งที่เราสวมใส่ ฯลฯ ล้วนแต่เชื่อมโยงโดยตรงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวเร่งวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และยังไม่รวมถึงผลกระทบอื่นๆ อย่างเช่นความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงจากวิถีที่เราบริโภคอาหารอย่างไม่หลากหลาย

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ในระดับปัจเจกก็สำคัญเช่นกัน

ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) บอกว่า เราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกได้ 40-70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 ถ้ามีนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่เหมาะสม

ลิวอิส อาเคนจิ (Lewis Akenji) ผู้เขียน (ร่วม) ‘Enabling Sustainable Lifestyles in a Climate Emergency’ บทสรุปยุทธศาสตร์นโยบายที่เป็นรูปธรรมจากนานาประเทศ วิเคราะห์ว่า การที่คนเราจะเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนทางเลือกการอุปโภคบริโภค จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนระบบที่ตอบสนองความต้องการและความปรารถนาของคนเรา ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย บรรทัดฐานทางสังคม ฯลฯ อย่างเช่น ต้องทำให้ราคาสินค้าไม่แพง-เข้าถึงได้ และเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน และมีการดำเนินการของรัฐบาล

เขาบอกว่า เรามักได้ยินเรื่องการแบ่งขั้วระหว่างการกระทำของปัจเจกบุคคล กับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ แต่จริงๆ แล้วมันแบ่งออกจากกันไม่ได้ขนาดนั้น ด้วยความเร่งด่วนที่เราต้องเร่งแก้ปัญหาในตอนนี้ มันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินไปพร้อมกันทั้งสองส่วน

อาเคนจิ แชร์ข้อมูลว่า มีปัจจัยสำคัญสามประการที่หล่อหลอมวิถีชีวิตของคนเรา ได้แก่ หนึ่ง-ทัศนคติ เช่น บรรทัดฐานทางสังคมและสื่อ สอง-ผู้อำนวยความสะดวก หรือสิ่งจูงใจ และสาม-โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพหรือทางเทคโนโลยี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่แท้จริงต้องอาศัยปัจจัยทั้งสามประการร่วมกัน รัฐหรือผู้กำหนดนโยบายสามารถสร้างวิถีการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนได้โดยการสร้างบริบทที่ช่วยให้ประชาชนเลือกตัวเลือกที่ยั่งยืนเป็นทางเลือกแรก อย่างเช่น ทำให้การปั่นจักรยานเป็นเรื่องง่ายกว่าการใช้รถยนต์


สองในสามปัจจัยที่อาเคนจิบอกนี้ เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องทำ คือ การอำนวยความสะดวก สร้างสิ่งจูงใจ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชน

ถ้ารัฐออกนโยบายที่เหมาะสม และดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อสร้างตัวเลือกที่ดีกว่าขึ้นมา ก็จะสร้างการเปลี่ยแปลงได้

อ้างอิง : UNEP (1), UNEP (2), UNEP (3), UNEP (4)

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 5 มิถุนายน 2565
โดย : รุ่งนภา พิมมะศรี กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com