พลังวิสาหกิจชุมชนร่วมลดปัญหาการเผา | สันธิลา ปิณฑะคุปต์


ผลิตภัณฑ์แปรรูปรักษ์โลกในปัจจุบัน เราต่างพบเจอได้มากมายและหลากหลายในท้องตลอด ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคการช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้โลก ในแนวทางที่ตัวเองเลือกรับและปฏิเสธช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมได้

ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุ เช่น ของเหลือใช้ที่จะต้องถูกทิ้ง หรือ แม้แต่เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งการนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์และเพิ่มจุดเด่น เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อโลกซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ริเริ่มจากชุมชน สู่การแปรรูปและเอกลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
   แม้ชุมชนจะเป็นหน่วยเล็ก ๆ ในระบบสังคม แต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หากชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองโดยนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และนำไปสู่ความร่วมมือในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดมูลค่าในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วอย่างหลากหลาย อาทิ

 “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาข้าวก่ำ” เริ่มต้นจากอาชีพผู้ปลูกข้าวเพื่อค้าขาย ในจังหวัดพะเยา และต่อยอดแบรนด์ข้าวในรุ่นลูกให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงพัฒนากรรมวิธีการแปรรูปข้าว จนกระทั่งรวมกลุ่มเกษตรกร 49 คน ในพื้นที่ร่วมพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรม

เกิดจากการนำฟางข้าวมาทำกระดาษ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับฟางข้าว แทนการเผา โดยสามารถทำกระดาษได้ 2 แบบ คือกระดาษฟางข้าว 100% และกระดาษฟางข้าวผสมกระดาษรีไซเคิล นอกจากนี้ฟางข้าวยังสามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น ที่คั่นหนังสือ การ์ด ไดอารี่

จานรองแก้วน้ำ ดอกกุหลาบ ดอกไม้จันทน์ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ งานศิลปะ ภาพวาด กล่องใส่ทิชชู่ เป็นต้น โดยที่น่าสนใจคือมีกระถางต้นไม้แปรรูป มี 2 แบบให้เลือก คือ กระถางผสมกับมูลไส้เดือน ซึ่งสามารถนำไปปลูกและย่อยสลายได้เลย และแบบผสมกับปูนซีเมนต์ซึ่งจะมีความคงทนกว่าและมีน้ำหนักเบา

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจ ยังมุ่งทำให้พื้นที่ปลูกข้าวให้เป็นพื้นที่ Zero waste โดยการจัดการไม่มีของเสียในฟาร์มและนำของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น

“วิสาหกิจกลุ่มอารักษ์” อีกหนึ่งวิสาหกิจชุมชนที่มีแนวคิดและเพิ่มมูลค่าให้กับฟางข้าวแทนการเผา ที่จังหวัดราชบุรี โดยพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรม จากการเริ่มต้นรวบรวมฟางข้าว ประสานเกษตรกรในพื้นที่ ที่มีเครื่องอัดฟางก้อนหรือเกษตรกรที่รับจ้างทำการอัดฟางก้อน และรับซื้อ

โดยจะรับซื้อฟางก้อนในราคา 20-25 บาท เพื่อนำมาสับย่อย และนำมาต้มให้เปื่อยยุ่ยและขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว 100 % หน้าตาสวยงามเป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น โคมไฟ กรอบรูป และบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ตามความต้องการของลูกค้า

นอกจาก การผลิตแปรรูปแล้ว กลุ่มยังให้บริการออกแบบผลิตภัณฑ์จากทางกลุ่มให้ได้ตามความต้องการของลูกค้าในกระบวนการผลิต สีสันของภาชนะจะขึ้นอยู่กับความเก่าใหม่ของฟางข้าว ซึ่งคือหนึ่งในเอกลักษณ์และสร้างความโดดเด่นเรื่องราวที่มีของคุณค่าในพื้นที่

พร้อมกันนี้ กลุ่มยังได้สร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการข้าว โดยบูรณาการกับมหาวิทยาลัยพะเยา สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ดำเนินโครงการแปรรูปฟางข้าวและนำเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่า

อาทิ การรวบรวมฟางข้าวจากเกษตรกร การแปรรูปด้วยเครื่องจักรและแรงงานคน และการทำแบรนด์จำหน่ายสินค้า ซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สู่กระดาษฟางข้าว และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาวและส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงถือว่าเป็นความภูมิใจกับกลุ่มและจังหวัด


 
เชื่อมต่อกิจกรรมย่อย ขยายสู่ธุรกิจเพื่อชุมชนและเพื่อสิ่งแวดล้อม
   ต้องยอมรับว่า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากไอเดียหรือภูมิปัญญาในการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในชุมชนมาใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างและกระจายรายได้ในชุมชน

 ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักถึงประโยชน์และคุณค่าและความสำคัญ ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้ และความสำเร็จจากชุมชนได้ขยายส่งออกสู่กลุ่มลูกค้าต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และภูฏาน

นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกวันนี้หลายคนได้ให้ความสนใจในสิ่งแวดล้อมและเชื่อว่าต่อไปในอนาคต จะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เลือกใช้ต่อไปอย่างแน่นอน

นี่คือตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มักจะถูกเผาทิ้ง สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอีกมาก สิ่งเล็ก ๆ จะช่วยสร้างโลกใบนี้ให้ยั่งยืนขึ้นได้เช่นกัน และเชื่อว่าหากโลกยั่งยืน ธุรกิจก็จะยั่งยืนตามไปด้วย.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
By มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) | รักษ์โลก : Low Carbon Society28 เม.ย. 2565

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com