มูฟเมนต์ด้านสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชนที่ควรได้รับการสนับสนุน


รอบตัวเรามีกลุ่มคนและเครือข่ายชุมชนหลากหลายที่ร่วมมือกันปกป้องสิ่งแวดล้อมในวิถีที่ตนเองทำได้ ทั้งกลุ่มหนุ่มสาวคนเมืองที่มาพร้อมกับพลังในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเองให้ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การผลักดันให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่จับมือร่วมกันปกป้องแหล่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์เพื่อลูกหลานในอนาคต รวมถึงการรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนเพื่อท้าทายผู้นำทางการเมืองและผู้กำหนดแผนและนโยบายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ลงมือทำ

วันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักกับมูฟเมนต์ด้านสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนที่ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อยืนยันว่าการเคลื่อนไหวและรวมกลุ่มของประชาชนคือการขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมโดยตรงอย่างแท้จริงของประชาชนในกระบวนการกำหนดอนาคตของตัวเอง ซึ่งควรได้รับการส่งเสริม และไม่ควรถูกควบคุมด้วยกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพ

#ไม่เอาพรบควบคุมภาคประชาสังคม

การต่อสู้ของลูกสาวแห่งทะเลและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

Chana Community Protest at UN Office in Bangkok  Chanklang  Kanthong  Greenpeace© Chanklang Kanthong / Greenpeace

การต่อสู้เพื่อยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) อย่างมีส่วนร่วม เป็นธรรม โปร่งใส และเป็นอิสระ

เมื่อปี 2563 ยะห์ – ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกชาวประมงจากหมู่บ้านเล็ก ๆ จาก อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไปปูเสื่อและกางมุ้งค้างคืนหน้าบันไดศาลากลางจังหวัดสงขลานานเกือบ 50 ชั่วโมง เพื่อรอคำตอบหลังยื่นจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะเวทีจำกัดสิทธิการเข้าร่วมของคนในพื้นที่ และต่อมายะห์เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ขอให้ยกเลิกมติ ครม. เรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและโลกโซเชียล จนเกิดแฮชแท็ก #SAVECHANA ในทวิตเตอร์

ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ชาวจะนะที่เดินทางมาชุมนุมเพื่อทวงสัญญาที่ทำเนียบรัฐบาลกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายต่าง ๆ ดังขึ้นอีกครั้ง เช่น ทัพเรือประมงพื้นบ้านจะนะประกาศเจตนารมณ์ #saveจะนะ พร้อมจุดยืนและข้อเรียกร้อง ณ ชายหาดตำบาลสะกอม รวมทั้งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และภาคีเครือข่ายอีกมากมายร่วมผนึกกำลังร่วมขบวนกับชาวจะนะ เดินทางถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เคลื่อนขบวนจากหน้าสหประชาชาติไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน จนในที่สุด คณะรัฐมนตรีมีมติรับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นให้ทำการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และให้หน่วยงานอื่นชะลอดำเนินการไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม จากการมาชุมนุมทำให้ไครียะห์ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประชาชนจึงยังคงต้องจับตามองความคืบหน้าของโครงการและประเด็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของชาวจะนะกันต่อไป

คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านกะเบอะดิน กับการมาถึงของเหมืองถ่านหิน

 Chanklang  Kanthong  Greenpeace© Chanklang Kanthong / Greenpeace

พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ ดวง คือเยาวชนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ที่ชื่อว่า ‘กะเบอะดิน’ กลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้รับรู้ถึง ‘โครงการเหมืองถ่านหิน’ ที่อาจนำมาสู่การทำลายทรัพยากร ต้นน้ำ ของชาวบ้านในหมู่บ้านและผู้ที่ต้องใช้น้ำจากลำห้วย เพราะที่หมู่บ้านกะเบอะดินแห่งนี้มี “ถ่านหิน” อยู่ใต้ดินและปรากฏให้เห็นเด่นชัดที่บริเวณห้วยผาขาวลำห้วยใหญ่สายสำคัญที่มีจุดเริ่มต้นจากผาขาวไหลผ่านหลายหมู่บ้าน

เพจเฟสบุ๊ค กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ทำขึ้นโดยกลุ่มเยาวชน เพราะพวกเขาคิดว่าคนรุ่นใหม่ต้องช่วยหมู่บ้าน โดยจะเล่าว่าตอนนี้หมู่บ้านกะเบอะดินกำลังเจอปัญหาอะไรอยู่ ถ้าเหมืองมาจะเกิดอะไรขึ้น และไม่ใช่แค่กลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินเท่านั้น แต่หมู่บ้านกะเบอะดินทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมาช่วยสนับสนุนในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งตลอด ยกตัวอย่างเช่นการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการและการทำพิธีบวชป่าเพื่อแสดงเจตนารมย์ว่าชาวกะเบอะดินไม่ต้องการเหมืองถ่านหิน ก็มีชาวบ้านร่วมกันมาแสดงเจตนารมย์ หรือเวลาที่เราเตรียมงานทำกิจกรรมในหมู่บ้านกันเองก็จะมีพี่ป้าน้าอา ชาวบ้านในหมู่บ้านมาช่วยเราเสมอ

พวกเขาอยากให้ทุกคนรู้ว่าหมู่บ้านของเขาเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวอบอุ่น เรากำลังต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินของอุตสาหกรรมใหญ่ตามสิทธิที่มี เป็นครั้งหนึ่งที่เราทำเพื่อหมู่บ้านของเราและเยาวชนในหมู่บ้านของเรามีความเข้มแข็งพอที่จะทำกิจกรรมเพื่อยุติโครงการเหมืองถ่านหิน

การเดินทางของ Climate Strike ในประเทศไทย

Fridays for Future Student Protest in Bangkok  Biel Calderon  Greenpeace© Biel Calderon / Greenpeace

นันทิชา โอเจริญชัย หรือ หลิง คือคนหนึ่งที่รักธรรมชาติและศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกมาอย่างดีในช่วงระหว่างการเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ด้วยความต้องการอยากแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ในช่วงการเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย เธอได้รับแรงบันดาลใจจากบทความของ เกรียตา ทุนแบร์ และการรณรงค์หยุดเรียนประท้วงโลกร้อนในทุกวันศุกร์ หลังจากอ่านบทความนั้น หลิงตัดสินใจที่จะจัด Climate Strike ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

เธอมองว่าพลังของเยาวชนต่อการรณรงค์ในครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่า เยาวชนกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าพูด ซึ่งมันอาจจะไปตรงใจใครหลาย ๆ คนเพราะสุดท้ายแล้วก็มีคนฟังเรา ข้อดีตรงนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น

นอกจากนั้น เธอยังมองว่า Climate Strike ไม่ใช่เรื่องของเยาวชนเพียงกลุ่มเดียว เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศมันเกิดขึ้นแล้ว และปัญหานี้เป็นเรื่องของทุกคน เพราะผู้ใหญ่บางคนก็รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมกันเยอะ และทำงานด้านนี้มานาน แต่ที่หลาย ๆ คนมองว่าเยาวชนมีพลังเสียงมากเพราะด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เยาวชนเรียนรู้อะไรได้เร็ว ทั้งความรู้ ทักษะ อีกทั้งยังกล้าแสดงออก พวกเขามีโอกาสและได้รับพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น เมื่อพวกเขามีโอกาสมีพื้นที่แสดงตัวเยอะขึ้น

การต่อสู้ของชุมชนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Locals Welcome Greenpeace  Greenpeace  Vinai Dithajohn© Greenpeace / Vinai Dithajohn

เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วที่นายเจริญ วัดอักษร แกนนำชุมชนผู้ถูกปลิดชีวิตไปด้วยปืน 9 นัด เนื่องจากการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยชายชื่อเจริญ วัดอักษร ร่วมกับชาวบ่อนอก ทับสะแก บ้านกรูด และชุมชนอื่น ๆ ในประจวบคีรีขันธ์ ต่อสู้กับการคุกคามของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งหากปราศจากจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในวันนั้น ในทุกวันนั้นประจวบฯ ที่เรารู้จักกันอาจกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่คล้ายกับระยองไปแล้ว

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกและบ้านกรูด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คืออีกพื้นที่ที่ชาวบ้านจะต้องทวงถามรัฐถึงสิทธิบนที่ทำกินและปกป้องพื้นที่ให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ก่อนจะถูกโครงการอุตสาหกรรมกลืนกิน โดยคุณหนิง สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล หนึ่งในคนของชุมชนได้ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ในครั้งนั้นให้เราได้ฟังว่า ในการต่อสู้นี้ชาวบ้านจึงต่อสู้ด้วยบทบาทต่าง ๆ ในขบวนชาวบ้านยังมีอีกหลายภาคส่วนที่มาร่วมและขับเคลื่อนตามความถนัดของตัวเอง บางคนก็มาเป็นแม่ครัว บางคนมาเป็นการ์ด บางคนมาทำงานด้านวิชาการ ช่วยกันระดมทรัพยากร เราทำความเข้าใจร่วมกันว่าเครือข่ายเราจะต้องดูแลกัน หากมีปัญหาในพื้นที่ใด เครือข่ายจะต้องเข้าไปช่วยกันเพราะมันเป็นแผนพัฒนาเดียวกัน ต่อสู้เพื่อตัวเองและลูกหลาน  

พวกเขายืนยันว่าชุมชนยืนยันมาตลอดว่าใช้การต่อสู้แบบสันติวิธี ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้โดยใช้การรณรงค์ผ่านสื่อ ใช้ปากเป็นอาวุธก็ได้ ใช้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บ้าง และแต่ละครั้งก็คือการเก็บสะสมชัยชนะไปเรื่อย ๆ

“ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” ปกป้องตือโละปาตานี

Heart for Sea in Teluk Patani  Greenpeace  Arnaud Vittet© Greenpeace / Arnaud Vittet

พลังของประชาชนที่ร่วมกันลุกขึ้นคัดค้านการคุกคามของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย คือพลังสำคัญที่สุดที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่โครงการต่าง ๆ ที่เทพา จังหวัดสงขลา และจังหวัดกระบี่ ไม่สามารถดำเนินการได้

หลังจากผ่านการต่อสู้อย่างยาวนาน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ตัวแทนกลุ่มชาวประมงเทพา จังหวัดสงขลา ยังคงยืนหยัดเพื่อบ้านเกิดอย่างต่อเนื่องและได้ออกมารวมตัวอีกครั้งใกล้เกาะขาม จังหวัดสงขลา โดยมีเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือสัญลักษณ์ของกรีนพีซ ออกมาร่วมเปล่งเสียงแสดงจุดยืนไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ณ ตือโละปาตานี พื้นที่แห่งนี้เชื่อมโยงกันจากอำเภอเทพาถึงแหลมตาชี เรือประมงราว 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา พร้อมกับแผ่นผ้าที่เป็นภาพตัวละครในหนังตะลุง เขียนเป็นข้อความ “ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” ซึ่งหมายถึง “ปกป้องภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนาและทะเล” “ไม่เอาถ่านหิน” และ “Heart for Sea” อันเป็นการแสดงเจตนารมย์คัดค้านต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ที่เทพา อันจะทำลายความอุดมสมบูรณ์ของผืนทะเลตือโละปาตานีที่แหล่งผลิตอาหารทะเลที่เลี้ยงปากเลี้ยงของของคนไทย

นอกจากนั้นตัวแทนชุมชนเครือข่ายตือโละปาตานี ได้ออกมากทำกิจกรรมร่วมกันกับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ของกรีนพีซ ทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มเยาวชน Beach For Life หรือ เด็กรักษ์หาด  กลุ่มปันรักที่รณรงค์ด้านอาหารทะเลและการประมงแบบไม่ทำลายล้าง และยังมีตัวแทนชุมชนจากอำเภอเทพา และหนองจิกของเครือข่ายตือโละปาตานี ซึ่งทุกคนล้วนต่างต้องการปกป้องรักษาความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตของตน

“ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อร่วมกำหนดอนาคตของตนเองในการพัฒนาประเทศ”

ผู้คนและสังคมที่เราอาศัยอยู่ต่างพึ่งพาสิ่งแวดล้อม และนี่เป็นเพียงตัวอย่างเรื่องราวการสร้างความเปลี่ยนแปลงอันน่าประทับใจในประเทศไทย ผ่านการรวมกลุ่มของประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เป็นการสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในการจัดสรรทรัพยากรของสังคมอย่างสมดุล เท่าเทียมและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มีเจตนาและเนื้อหาต้องการควบคุม กำกับ และเข้าข่ายคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนทั่วประเทศ

แน่นอนว่าหากกฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาบังคับใช้เมื่อไร ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การชุมนุมสาธารณะ การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนจำนวนมาก เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วยองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศกว่า 1,800 กว่ากลุ่ม จึงขอชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมกันส่งเสียงคัดค้านก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเครือข่ายได้ที่นี่

#ไม่เอาพรบควบคุมภาคประชาสังคม

ที่มา :  Greenpeace Thailand วันที่ 18 มกราคม 2565

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com