ความเสี่ยงกับฉากทัศน์อนาคตของประเทศไทย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด


บทความที่ผ่านมาแล้วในคอลัมภ์ iCare นี้ได้ประมวลภาพความเสี่ยงของไทยในปัจจุบันและฉายภาพแนวโน้มและทางเลือกของอนาคตประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า

การประมวลภาพและฉายภาพประเทศไทยนี้ได้อาศัยข้อมูลของการศึกษาอนาคตใน 9 มิติภายใต้โครงการอนาคตประเทศไทยและผลงานวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และผลงานวิจัยร่วมสมัยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยจะเผยให้เห็นโอกาสและความท้าทายที่มีอยู่ตรงหน้า
   ผลการประมวลแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศไทยในสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระดับนานาชาติและในระดับอาเซียนนั้นมีความถดถอยเป็นลำดับ  

ภาคเกษตรของไทยซึ่งเคยเป็นเสาหลักของประเทศอ่อนแอลง ขีดความสามารถของภาคเกษตรของไทยในตลาดโลกลดลง ครอบครัวชนบทอาศัยเงินโอนจากภาคเมือง

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไทยที่เติบโตก็ยังไม่สามารถเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้เติบโตตามไปด้วย โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันอาศัยภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคบริการที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ

การใช้แรงงานไม่อยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรมและความรู้เช่นเดียวกับภาคบริการในประเทศพัฒนาแล้ว ความสัมฤทธิ์ผลในด้านการศึกษาของไทยก็ต่ำกว่าความสัมฤทธิ์ผลของชาติอื่นๆ ในอาเซียน รวมทั้งเวียดนาม

การทบทวนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาพบว่า คนไทยกำลังดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนำไปสู่สังคมสูงวัยที่มีการออมลดลง

การขาดแคลนแรงงาน ทักษะสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 หนี้สินสูงทำให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐในระยะยาว การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านการค้าและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หรือแม้แต่ทุนจากในประเทศ

และยังมีความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติและความเสี่ยงที่มาจากปัจจัยภายนอกจากภาวะโลกร้อน ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากโรคระบาด ความเสี่ยงซึ่งเกิดจากความตึงเครียดของการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ทำให้ขั้วอำนาจทางตะวันออกมีความเข้มแข็งขึ้น

ทำให้เกิดทางสองแพร่งของขั้วอำนาจที่จะมีผลไม่ใช่แค่ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านการค้าการลงทุน แต่จะลงลึกไปถึงด้านเทคโนโลยีและการศึกษาอีกด้วย

ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือหลีกเลี่ยงได้ยากเหล่านี้ ยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยความเสี่ยงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ที่เกิดจากการขาดดุลยภาพระหว่างความสามารถในการผลิตและความสามารถในการบริโภค ระหว่างการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเร่งรัดหารายได้กับการใช้อย่างอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

การศึกษาที่ผลิตแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมและสังคม การเจริญเติบโตซึ่งเกิดจากอำนาจผูกขาดของทุนขนาดใหญ่มากกว่าการขยายตัวของผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นธุรกิจกว่าร้อยละ 90 ของประเทศ

ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน พื้นที่ ซึ่งยังส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป ความไม่ลงตัวระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มอำนาจใหม่หรือระหว่างกลุ่มเสรีประชาธิปไตยและกลุ่มอนุรักษ์นิยม

 โลกทัศน์และอุดมการณ์ที่แตกต่างระหว่างคนต่างรุ่น ความไม่สมดุลและความไม่ลงตัวขององคาพยพต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ตอกย้ำด้วยความเสี่ยงที่เกิดจากสมรรถนะและความอ่อนแอด้านธรรมาภิบาลของรัฐ

การศึกษาพบว่า ความอ่อนแอของประเทศไทยในระยะหลังเป็นความพ่ายแพ้เชิงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ และความไม่ยืดหยุ่นของระบบราชการ ทำให้ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

ถึงแม้ประเทศไทยมีความเปราะบางและความเสี่ยงมากมายที่เป็นขวากหนามและอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปในภายภาคหน้า แต่ประเทศไทยก็ยังพอมีจุดสว่าง (Bright spots) ที่สำคัญ ได้แก่ ความเข้มแข็งในการเกื้อกูลกันในระดับปัจเจกและเครือข่ายชุมชน

เช่นที่เราเห็นในกรณีของเหตุการณ์หมูป่าแสดงให้ถึงของความเข้มแข็งของทุนสังคมในระดับรากหญ้า ความเข้มแข็งของประชาคมเมืองและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ และยังมีแนวโน้มใหม่ๆ เช่น ความร่วมมือในภาคเอกชนที่จะต่อต้านคอร์รัปชัน ความเข้มแข็งของกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ที่แม้จะเป็นแนวโน้มที่ยังมีขนาดเล็ก

หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็นับได้ว่าเป็นพลังของความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในรูปแบบใหม่ และต้องการกลยุทธ์การผสมผสานพลังเหล่านี้ให้ขึ้นมาขับเคลื่อนประเทศได้

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ใช้ในการจินตนาการภาพอนาคตทางเลือกหรือฉากทัศน์ของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้ามี 2 ประการ ปัจจัยแรกคือ รูปแบบการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจ ขั้วหนึ่งคือการเติบโตแบบสีน้ำตาล (Brown growth) ซึ่งเน้นการผลิตและบริโภคที่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและมักนำไปสู่การพัฒนาที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

อีกขั้วหนึ่งของแกนนี้เป็นการเติบโตแบบสีเขียว (Green growth) ซึ่งเน้นการผลิตที่มุ่งเพิ่มมูลค่าการผลิตและการบริโภคไปพร้อมกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรให้เหลือน้อยที่สุด โดยมีความมุ่งหวังว่าในที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาแบบฟื้นฟูและทั่วถึง
 
ทำให้เกิดฉากทัศน์ 4 ฉาก (ดังรูป) รูปในแต่ละฉากทัศน์หมายถึง รูปแบบการกระจายอำนาจในประเทศไทย โดยที่ในปัจจุบันเราติดอยู่ในฉากทัศน์ที่ 1 คือ ไทยติดหล่ม ในขณะที่ฉากทัศน์ที่ 4 ไทยวิวัฒน์เป็นอนาคตที่พึงประสงค์ ส่วนรายละเอียดเราจะมาคุยกันในอาทิตย์ถัดไป ท่านผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารฟรีได้ที่ https://www.khonthai4-0.net/

โดย : ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด | ประเทศไทย iCare
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 ธันวาคม 2564

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com