การปกป้องสิ่งแวดล้อมคือการปกป้องชีวิตของพวกเรา


สิ่งที่ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีคืออะไร? จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ พวกเราได้แต่สงสัยว่า อะไรที่จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าทำให้เกิดรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น คนต่อแถวยาว เว้นระยะห่างเพื่อซื้ออาหาร การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อติดต่อสื่อสารมากขึ้น (ทำให้ผู้สูงอายุก็ต้องหัดใช้เทคโนโลยีมากขึ้นด้วย) หรือกระทั่งการช่วยเหลือกัน แบ่งปันกันในสังคม สิ่งเหล่านี้คือความพยายามทำให้สังคมของเรากลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้งหลังวิกฤตของโรคระบาด

การเว้นระยะห่างทางสังคม (Physical Distancing) บนรถไฟฟ้าจะกลายเป็นภาพที่เราคุ้นชิน

แม้ว่าทุกวันนี้เรากำลังพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น แต่ก็ในทางกลับกันเราก็ยังคงต้องการการสนับสนุนจากระบบในระดับประเทศเพื่อสามารถรับมือได้ดีขึ้น เช่น

  • การเข้าถึงน้ำที่สะอาดเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและปกป้องเราจากไวรัสได้โดยการล้างมือให้สะอาดตาม 7 วิธีการล้างมือ
  • การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่เราควรได้รับ
  • ความมั่นคงทางอาหารที่จะทำให้เราไม่ขาดแคลนอาหารการกิน

แม้ว่าตอนนี้จะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้รับข่าวสารด่วนเกือบทุกชั่วโมง แน่นอนว่ามันยากที่เราจะจับตาดูข่าวพวกนี้ตลอดเวลา อย่างไรก็ดีเราควรตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีจะเป็นระบบที่เอื้อให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น

สิ่งแวดล้อมเกี่ยวอะไรกับ COVID-19?

สิ่งแวดล้อมที่ดีเกิดขึ้นได้จากการไม่ไปรุกล้ำระบบนิเวศต่าง ๆ เช่นการตัดไม้ทำลายป่า หรือพื้นที่ป่ารกร้าง การมีพื้นที่ป่าที่มากขึ้นเป็นเหมือนเกราะป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสที่ถูกส่งต่อของมนุษย์ได้ยากขึ้น หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้

เพราะโดยพื้นฐานแล้วสุขภาพของเราเชื่อมโยงกันกับระบบนิเวศทั้งหมด ดังคำที่กล่าวไว้ว่า “เราไม่สามารถแยกสุขภาวะของสัตว์จากสุขภาวะของมนุษย์ได้ เหมือนกับเราไม่สามารถแยกสุขภาวะของคนในแต่ละประเทศออกจากกัน เช่น สุขภาวะของประชาชนชาวเกาหลีกับสุขภาวะของประชาชนชาวฝรั่งเศส”

การทำลายสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับโรคระบาดอย่างไร?

เมื่อเราทำลายป่าและทำลายธรรมชาติเพื่อใช้พื้นที่ในการผลิตอาหารเนื้อสัตว์และสินค้าอื่น ๆ เราไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในบ้านของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เรายังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคจากสัตว์ป่าที่คล้ายกับ COVID-19 อีกด้วย

การบุกรุกของมนุษย์นั้นมีหลายรูปแบบ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองหรือการถางป่าเพื่อเพาะปลูก กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ให้มนุษย์ใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรคจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์และคุกคามสุขภาพของโลกในที่สุด

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นไม่เหมือนกับโรคระบาดที่เราเคยเผชิญก่อนหน้านี้ แม้จะเป็นการแพร่ระบาดที่มีสาเหตุมาจากสัตว์เหมือนกันกับโรคซาร์ส ไวรัส H1N1 ไข้หวัดใหญ่หรือแม้แต่เชื้ออีโบลาก็ตาม

การทำปศุสัตว์แบบระบบอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรน่าหรือไม่?

การทำปศุสัตว์แบบระบบอุตสาหกรรมหรือการเลี้ยงสัตว์แบบปิดรวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์นมในฟาร์มขนาดใหญ่ ที่มีการเลี้ยงสัตว์แบบแออัดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดและการแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่ในขณะเดียวกันแม้ว่ายังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการระบาดของไวรัส COVID-19 เชื่อมโยงกับการเลี้ยงสัตว์แบบปิด แต่การเลี้ยงสัตว์แบบปิดมีส่วนในการแพร่กระจายของไวรัสจากสัตว์สู่คนซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างของการเกิดไข้หวัดนก ว่าการที่สัตว์อาศัยอยู่ในพื้นที่คับแคบ แออัด และไม่ถูกสุขลักษณะนั้น ผู้ที่ทำงานในฟาร์มนั้น ๆ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างเห็นได้ชัด

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลงไปด้วยจริงหรือ?

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะไม่ปรากฏว่ามีบทบาทโดยตรงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่การที่เราไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในรูปแบบอื่น ๆ อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทำให้สุขภาพสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ขาดความสมดุล มันเป็นความเสี่ยงที่เราไม่สามารถยอมรับได้

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา?

ระบบนิเวศที่ดีจะทำให้โรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ยากกว่า รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรค นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราทุกคนควรหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอเบาะแสที่สำคัญสำหรับการวิจัยทางการแพทย์เพื่อทำความเข้าใจกับไวรัสที่ดีขึ้นและแนวทางการรักษาที่มีศักยภาพ ดังนั้นการปกป้องมหาสมุทรจากมลพิษและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่นการทำเหมืองใต้ทะเลสามารถช่วยรักษาระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเหลือพวกเราทุกคน

โดยทั่วไปแล้วสิ่งแวดล้อมที่ดีนั่นคือระบบที่ใหญ่ที่สุดในการช่วยเหลือชีวิตของคนเรา การมีพื้นที่ป่าเยอะและมหาสมุทรอันอุดมสมบูรณ์ให้อากาศที่สะอาดสำหรับการหายใจและช่วยให้เราต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี

ป่าคือแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนชั้นดีที่จะช่วยรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศ

แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง?

การรับมือกับวิกฤตไวรัส COVID-19 และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งหมายความว่าเราจำเป็นต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมเพราะการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เราก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยตามไปด้วย

เป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำให้สภาพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น โลกและสังคมที่ปลอดภัย น่าอยู่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นได้จริง หลังจากสถานการณ์โควิดนี้ เราจะต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ให้อยู่บนพื้นฐานของการเคารพความหลากหลายของผู้คน คำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูระบบนิเวศ และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม

ภาครัฐไม่ควรนำงบประมาณลงทุนให้กับในระบบอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนจากรัฐบาลควรเน้นไปที่ประชาชน หรือเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การดำรงชีวิตที่ทำให้เราทุกคนปลอดภัยและเอื้อให้ผู้คนมีสุขภาพดี

บริษัทอาหาร และอุตสาหกรรมบางแห่งกำลังใช้วิกฤตนี้เพื่อลบกฎความปลอดภัย ด้วยการหาประโยชน์จากแรงงานและขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (planetary boundaries) ซึ่งทำให้เรามีความเสี่ยงมากขึ้น ในที่นี้รวมถึงการทำปศุสัตว์ระบบปิดที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดในอนาคต ดังนั้น เราควรส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย หรือการทำเกษตรแบบยั่งยืน ร้านขายของชำในท้องถิ่นของตัวเองเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

การห้ามการค้าสัตว์ป่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการระบาดของโรคสัตว์ แต่มาตรการระยะสั้นนั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันวิกฤตครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จากวิกฤตในปัจจุบันเราต้องการการดำเนินการที่มั่นคงและเป็นรูปธรรมเพื่อผลในระยะยาว เราเรียกร้องนโยบายที่แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริง รวมทั้งสามารถปกป้องชีวิตของเราได้นโยบายที่เราต้องการนั้นจะต้องคำนึงไว้เสมอว่าป่าที่อุดมสมบูรณ์ มหาสมุทรที่ไร้มลพิษคือระบบที่ใหญ่ที่สุดในการช่วยเหลือชีวิตของเราทุกคน

สุขภาวะของเรา รวมทั้งคุณภาพชีวิตของสังคมเราและสุขภาวะของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับมาฟื้นฟูโลกของเราใหม่โดยมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญ

ที่มา : GREENPEACE THAILAND วันที่ 9 มิถุนายน 2563
โดย :   Louisa Casson

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com