วันน้ำโลกในปี พ.ศ.2563 นี้ยกประเด็น น้ำในวิกฤตโลกร้อน เป็นเรื่องสำคัญ สหประชาชาติระบุว่า การรับมือกับวิกฤตน้ำจากผลกระทบที่เป็นหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะช่วยปกป้องสุขภาพและช่วยชีวิตผู้คน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกู้วิกฤตโลกร้อน
น้ำสะอาด ราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลนที่สุดในโลกของเรายังถูกคุกคามโดยอุตสาหกรรมถ่านหิน น้ำจืดปริมาณมหาศาลถูกนํามาใช้และปนเปื้อนมลพิษจากการทําเหมืองถ่านหิน รวมถึงการขนส่งและการผลิตไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,000 เมกะวัตต์หนึ่งแห่งในอินเดียใช้น้ำพอๆ กับความต้องการพื้นฐานของคนเกือบ 700,000 คน โดยทั่วไป โรงไฟฟ้าถ่านหินใช้น้ำประมาณร้อยละ 8 จากความต้องการน้ำทั้งหมด แต่ความต้องการน้ำอันไร้ขีดจํากัดของอุตสาหกรรมถ่านหินซ้ำเติมวิกฤตน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย จีน ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้
มลพิษเกิดขึ้นในทุกกระบวนการในวัฐจักรถ่านหิน ทำให้น้ำปนเปื้อนด้วยโลหะหนักและสารพิษในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ป่าอย่างมีนัยสำคัญ การได้รับพิษนี้จะเพิ่มโอกาสความพิการแต่กำเนิด ความเจ็บป่วย และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การปนเปื้อนมลพิษจากถ่านหินคือภัยคุกคามที่มองไม่เห็นต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
การทำเหมืองถ่านหิน การชะล้างและการเผาไหม้ได้ปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษและโลหะหนักออกสู่สิ่งแวดล้อม สำหรับการขุดถ่านหินทุก ๆ 1 ตัน น้ำใต้ดินราว 1 ถึง 2.5 ลูกบาศก์เมตร จะไม่สามารถนำไปใช้อุปโภคและบริโภคได้ กลุ่มเหมืองถ่านหินขนาดยักษ์ในออสเตรเลีย (Galilee Basin) จะต้องสูบน้ําทิ้งมากถึง 1.3 พันล้านลิตร ซึ่งเป็นปริมาณท่ีมากกว่าน้ําในอ่าวซิดนีย์ถึง 2.5 เท่า การสูบน้ำออกนี้จะทําให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงอย่างมาก ผลคือบ่อน้ําชุมชนโดยรอบใช้การไม่ได้และยังส่งผลกระทบต่อแม่น้ําในบริเวณใกล้เคียง
ประเทศไทยกำลังเจอกับความแห้งแล้งครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบสี่ทศวรรษ ราวครึ่งหนึ่งของบรรดาอ่างเก็บน้ำในประเทศมีน้ำต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของศักยภาพที่กักเก็บน้ำไว้ได้ น้ำในแม่น้ำต่ำในระดับที่ทำให้น้ำเค็มจากทะเลรุกเข้ามาถึงพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำและส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบริโภค
การที่ประเทศไทยมีปริมาณน้ำจืดต่อหัวน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำมากขึ้นแล้ว ทรัพยากรน้ำของประเทศไทยกำลังถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมจากการกำหนดนโยบายของรัฐซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งเหนือทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและเมืองที่ตึงเครียดขึ้นทุกขณะ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีน้ำเพียงพอหรือไม่ แต่รากเหง้าคือวิธีการจัดการทรัพยากรน้ำและการกระจายน้ำอย่างเท่าเทียมกัน
ในยุคที่สภาพภูมิอากาศมีความสมดุล เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถวางแผนล่วงหน้า สร้างบ้านแปงเมือง และทำการเพาะปลูกตามสภาพดินฟ้าอากาศและน้ำ แต่การแทรกแซงธรรมชาติทำให้ช่วงเวลาเหล่านั้นกำลังหมดลง จากนี้ไปสภาพภูมิอากาศจะโหดร้ายทารุณ วิกฤตน้ำจะรุนแรงขึ้นภายใต้สภาพภูมิอากาศที่โหดร้ายขึ้น
น้ำกำหนดชะตากรรมของเรา และเรากำหนดชะตากรรมของน้ำ
ที่มา : Greenpeace Thailand โดย ธารา บัวคำศรี 22 มีนาคม 2020