ส่องรัฐสำเร็จหรือล้มเหลว หลังปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม


สัปดาห์นี้มาสำรวจป่าในประเทศไทย จะถือว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ก่อนอื่นต้องไล่เรียงตามไปดูแผนการปฏิรูปว่าเป็นอย่างไร

 รัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มต้นการบริหารประเทศ โดยการประกาศจะปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน ซึ่งก็ได้รับการขานรับจากประชาชนอย่างกว้างขวาง และจนถึงขณะนี้ก็ได้ใช้เวลาเพื่อทำสิ่งนี้มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร คือกว่า 4 ปีแล้ว รัฐบาลเองก็แถลงว่าได้ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปแล้วทุกด้าน แต่บางฝ่ายก็บอกว่า...ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือบ้างก็ว่าล้มเหลวทุกด้านก็มี

 แต่อย่างไรประชาชนคือผู้รู้ดีกว่าใครทั้งหมด ว่าการปฏิรูปของรัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการบริหารประเทศของรัฐบาล และวันข้างหน้าเมื่อมีโอกาสประชาชนจะตัดสินเองว่า รัฐบาลนี้สำเร็จหรือล้มเหลวการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการมืองที่จะมีขึ้นอีกไม่นาน

 ผมติดตามการปฏิรูปทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปประเทศไทยด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งด้านการเสริมสร้างมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหารประเทศและประชาชน แม้จะศึกษามาทุกด้านก็ตาม แต่จะขอพูดในรายละเอียดบางด้านเท่านั้น คือเฉพาะด้านการปฏิรูปด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และจะหยิบยกมาเพียง 4 ประเด็นดังนี้

1. ประเด็น “ทวงคืนผืนป่า” รัฐบาลได้ทำเป็นนโยบาย และดำเนินเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มเข้าบริหาร และประกาศความสำเร็จในผลงานไปแล้วว่า ได้ดำเนินการครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่มีข้อมูลเล็ดลอดออกมาบางข้อมูล เช่น บางจังหวัดมีพื้นที่ถูกบุกรุก 300 ไร่ แต่ตั้งเป้าหมายยึดคืนเพียง 1.97 ไร่ และกรณีที่จ.พัทลุงในปี 60 มีพื้นที่ถูกบุกรุก 1,550 ไร่ มีเป้าทวงคืน 1494.90 ไร่ แต่ทำได้จริงแค่ 76 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา บางพื้นที่เป็นคดีมาตั้งแต่ปี 52 และคดีถึงที่สุดแล้ว และเข้ากระบวนการทวงคืนผืนป่าแล้ว แต่ชาวบ้านยังกรีดยางอยู่ทุกวัน ตัวเลขและข้อเท็จจริงเหล่านี้จะสะท้อนความสำเร็จของนโยบายทวงคืนป่า ว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

 2. ประเด็น “การปราบปรามการทุจริต” และการขจัดการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และจากงบประมาณของแผ่นดิน หากสามารถมีคำตอบว่าเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี หาดนพรัตน์ ระหว่าง ปี 58 กับปี 59 ซึ่งมีความแตกต่างกันถึง 475 ล้านบาทโดยประมาณ ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกัน รวมทั้งเงินรายได้ของอุทยานฯ อ่าวพังงา ระหว่างปี 58 กับปี 59 ซึ่งแตกต่างกันถึง 61 ล้านบาทโดยประมาณ ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไม่แตกต่างกันมากนัก และมีข้อมูลในรายงานการประชุมของกรมอุทยานฯ ว่ามีผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวแจ้งในที่ประชุมว่า มีการเก็บค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายเป็นลำเรือ ซึ่งผิดระเบียบเพราะในระเบียบต้องจ่ายเป็นรายบุคคล ตัวเลขและข้อมูลเหล่านี้ รัฐบาลจะประกาศว่ารัฐบาลมีผลงาน และและประสบความสำเร็จในการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

3. ประเด็น “การจัดทำป่ากลางเมือง” ที่รัฐบาลประกาศจะทำป่าขึ้นกลางเมืองให้เป็นปอดและพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน และให้ชื่อว่าสวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของประชาชนนั้น หากได้ทำป่าขึ้นมาใหม่ และป่าอยู่กลางเมืองหรือในชุมชนเหมือนของสวนป่าต่างประเทศ หรือของกทม. ขึ้นมาจริง ก็ถือว่าปฏิรูปด้านนี้มีความสำเร็จ หากทุกที่ที่ทำไปแล้วเป็นของเก่าที่มีอยู่ก่อนไม่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ แต่เครมว่าเป็นสวนป่าประชารัฐ รัฐบาลจะถือว่าผลงานของรัฐบาลเป็นความสำเร็จของการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร 

4. ประเด็น “การปลูกป่าภาครัฐ” หากรัฐบาลชุดนี้ เห็นว่าที่ปลูกมาทั้งหมด 100 กว่าปีที่ผ่านมา ป่ามีอยู่ครบถ้วนแล้ว ไม่เว้าไม่แหว่งแต่อย่างใด สมเหตุสมผลกับงบประมาณของแผ่นดินที่จัดสรรไป รัฐบาลจะเฉยๆ ไม่ดำเนินการใดๆ ก็ได้ แต่ถ้าเห็นว่าการปลูกป่าของประเทศไทย ยังปลูกไม่ครบ ปลูกแล้วเหลืออยู่ไม่มาก ปลูกแล้วไม่เหลือสภาพเป็นสวนป่าของรัฐ โดยขอให้ตรวจสอบแค่จำนวน 8 สวนป่า เท่านั้นก็พอ คือ 1.สวนป่าห้วยน้ำหิน จ.น่าน 2.สวนป่าเขาดาด จ.กาญจนบุรี 3.สวนป่าบ้านนา ท่าเรือจ.สุราษฎร์ธานี 4.สวนป่าทุ่งขนาย จ.เพชรบุรี 5.สวนป่าโสกแต้ จ.ขอนแก่น 6.สวนป่าถ้ำมูลน้อย จ.เลย 7.สวนป่าแปลงปลูกป่า FPT ที่ 38 จ.เชียงราย 8.สวนป่าแปลงปลูกป่า FPT ที่ 43 จ.เชียงราย 

หากพบว่าสวนป่าเหล่านี้มีไม่ครบถ้วน ขาดหายไปเป็นจำนวนมาก และรัฐบาลยังนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ จะถือว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จ และมีผลงานด้านด้านการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เพราะสิ่งนี้ควรเรียกมันว่าเป็น “ความล้มเหลว” ต่างหาก ซึ่งไม่ใช่ “ความสำเร็จ”

...............................................

คอลัมน์ : พุ่มไม้ใบบัง By Narit วันที่ 3 ตุลาคม 2561

โดย “นริศ ขำนุรักษ์”

ขอบคุณภาพจาก : กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรมมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนฯ, Pixabay

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com