ส่องโครงการ'ป่าในเมือง' ในวันนี้สวนทางความจริง


สัปดาห์นี้พูดถึงโครงการ “ป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ” จะเป็นไปตามนโยบายของรัฐและที่สังคมคาดหวังหรือไม่

เวลาใกล้เที่ยงของวันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ผมได้ไปที่ สวนพฤษศาสตร์พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งมีความสวยงาม ทั้งความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของป่า ความแปลกตาของต้นไม้ที่ไม่อาจพบเห็นที่อื่นได้ง่ายนัก และยังมีทะเลสาบสวยงาม เชื่อมต่อกับทะเลน้อย แหล่งท่องเที่ยวที่นิยมกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของจ.พัทลุง

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เลือกที่นี่เพื่อจัดทำเป็น “ป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ตามที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับเมือง เพื่อเป็นปอดชุมชน และเพิ่มแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ คอลัมน์นี้เขียนสนับสนุนนโยบายนี้ไปหลายตอน เพราะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีที่จะทำให้...

1.เพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าไทยมีจำนวนพื้นที่ป่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตฐานสากล และเกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีป่าไม้ไม่น้อยกว่า 40% ของพื้นที่ของประเทศ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ป่าแค่ประมาณ 30% เท่านั้น จึงควรเร่งเพิ่มพื้นที่ป่า

2.เพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือปอดให้กับคนในเมือง เพราะทุกเมืองในขณะนี้มีสภาพที่คล้ายๆ กัน คือ มีมลพิษ ฝุ่นละออง ความแออัด จึงต้องการพื้นที่สีเขียวมาเป็นปอดให้คนเมือง เพื่อเป็นที่สูดอากาศบริสุทธิ์ โครงการป่าในเมืองของรัฐบาลชุดนี้ จึงตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี เมืองในความหมายทั่วไป คือ ที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น โดยรวมๆ อาจยึดเอาที่ตั้งศาลากลางของจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอนั้นๆ เป็นศูนย์ของเมือง หรือเป็นกลางเมือง

3.เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวให้กับเมือง เพราะสวนป่ากลางเมืองหลายที่ มีความสวยงามจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนอยากไปและใฝ่ฝันได้สัมผัส บางแห่งมีความสมบูรณ์พรั่งพร้อม จนได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเที่ยวมากมาย สามารถสร้างเงินทำรายได้ให้กับประเทศชาติและประชาชนได้

แต่จากการที่ผมได้ไปเห็น “ป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ของจ.พัทลุง กลับพบว่าไม่ค่อยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเท่าไหร่ เพราะ...

1.ป่าในเมืองสวนป่าประชารัฐแห่งนี้ ไม่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ ใช้สวนพฤษศาสตร์พนางตุง ที่ก่อตั้งมาเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ทำเป็นสวนป่าประชารัฐของรัฐบาลชุดนี้ และเท่าที่สังเกตก็ไม่มีการสร้างป่า และปลูกต้นไม้มาเสริมเติมแต่อย่างใด เป็นของเก่าล้วนๆ มีของใหม่อย่างเดียวที่เห็นก็คือ ป้ายชื่อโครงการที่เขียนขึ้นตามนโยบาย จึงไม่เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าตามนโยบายรัฐบาล และตามที่สังคมคาดหวังแต่อย่างใด

2.ป่าในเมืองสวนป่าประชารัฐแห่งนี้ ไม่อยู่ในเมืองตามชื่อโครงการแต่อย่างใด โดยห่างจากศาลากลาง หรือตลาดตัวเมืองพัทลุงประมาณ 23 กม. และห่างจากที่ว่าการอ.ควนขนุน หรือตลาดควนขนุน ประมาณ 12 กม. อยู่ห่างไกลชุมชน จึงไม่ใช่ปอดให้กับเมือง ไม่ได้เป็นที่สูดอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนในชุมชน ตามนโยบายและที่สังคมคาดหวัง

3.จากจำนวนของนักท่องเที่ยวในวันที่ผมไปเที่ยว คือ วันอาทิตย์ ซึ่งน่าจะมีนักท่องเที่ยวมากที่สุด ก็ไม่พบคนเลยแม้แต่คนเดียว จากการสัมภาษณ์ นายสมพิศ เดชะ ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ต.พนางตุง ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ตรงทางเข้าสวนป่า ยึดอาชีพบริการทางด้านการท่องเที่ยว ให้สัมภาษณ์ว่า “มีนักท่องเที่ยวเข้าช่วงเช้าแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก ส่วนวันอื่นๆ แทบจะไม่มีเลย เพราะเข้าไปก็อยู่ไม่นาน เนื่องจากไม่มีอะไรหรือกิจกรรมใดๆ ดึงดูด มีเฉพาะวันเปิดงานวันเดียว คือวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งการแสดงและตลาดนัด จึงมีคนมาก แต่หลังจากนั้นก็เงียบเป็นปกติ จึงอยากให้มีเช่นวันที่ 30 มิ.ย. ทุกๆ วัน ไม่ใช่มีวันเดียวเช่นนี้”

ตรงกับที่ผมเองได้บันทึกภาพไว้ว่า ช่วงผมอยู่ไม่มีใครเข้ามาท่องเที่ยวเลย และพบเห็นสภาพตลาดร้างที่ไร้การขายของมานาน และสภาพพื้นที่ที่ไม่มีกิจกรรมมายาวนานเช่นกัน ดูจากสมุดบันทึกจำนวนนักท่องเที่ยวของเจ้าหน้าที่ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-18 ส.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไทยเข้ามาเที่ยว จำนวนแค่ 296 คน ชาวต่างชาติ 3 คนเท่านั้น จึงไม่เป็นไปตามที่คาดหวังแต่อย่างใด

ในฐานะที่ทำงานด้านนี้มาก่อน และเห็นด้วยในโครงการนี้อย่างจริงจัง ตลอดจนติดตามการทำงานของโครงการอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด จึงมีข้อเสนอแนะ คือ

1.อยากให้รัฐบาลทำป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ แบบจริงๆ ตรงตามชื่อสักหนึ่งที่ไว้เป็นแบบให้หน่วยงานอื่นไปทำตาม คืออยู่ในเมืองหรือชุมชน ทำขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เปลี่ยนป้ายหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ให้ผู้คนใช้ประโยชน์ทั้งเป็นที่ออกกำลังกาย ที่ท่องเที่ยวและเป็นปอดของเมือง โดยใช้แบบของประเทศสิงคโปร์ หรือของปตท. ก็ได้

2.อยากให้สตง. เข้าไปตรวจสอบความคุ้มค่าของสวนพฤษศาสตร์แห่งนี้ และ “ป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ทั้งที่พัทลุงและรวมถึงที่อื่นๆ ทุกที่ด้วย ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายทุกหมวดที่ใช้อยู่เป็นประจำ กับผลลัพท์ที่ได้ว่าคุ้มค่ากันหรือไม่ ถ้ามากไปก็ให้ตัดออก และถ้าไม่พอก็ช่วยขอเพิ่มเติม รวมทั้งขอให้ช่วยตรวจสอบ “โครงการสวนป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ว่าค่าใช้จ่ายในวันเปิดโครงการใช้ไปเท่าไหร่ และถ้าให้มีคนเป็นจำนวนมากแบบวันเปิดอีกจะใช้เงินอีกเท่าไหร่ ช่วยตรวจสอบว่าโครงการนี้มีอะไรไม่ชอบมาพากลบ้าง มีใต้โต๊ะหรือเปล่า มีซองขาวแจกว่อนหรือไม่ ตรวจสอบเสร็จให้รายงานท่านนายกฯ ให้รับทราบ และแถลงต่อสื่อมวลชนให้รับรู้ถึงความคุ้มค่า และถ้าพบสิ่งไม่ชอบมาพากลก็ให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบให้หน่อย

ทุกวันนี้เชื่อใจใครง่ายๆ ไม่ได้นะครับท่านนายกฯ ดูหน้าซื่อๆ ใจคดโกงมีเยอะ โครงการดีๆ คนทำให้บิดเบี้ยวและหาประโยชน์ก็มีมาก โครงการเล็กๆ ไม่ต้องใหญ่ก็อาจมีทุจริต ลองส่งหน่วยงานในความรับผิดชอบของท่านนายกฯ ไปตรวจดูได้ครับ อาจจะพบอย่างที่ผมว่าก็ได้ครับ.
................................
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com
เดลินิวส์ วันที่ 22 สิงหาคม 2561

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com