โครงการ “ขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปโดยพลังทางสังคม” (พ.ศ.2557 - พ.ศ.2559)


ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณทศวรรษที่ผ่านมา และปะทุกกลายเป็นความขัดแย้งในระดับวิกฤติในช่วงปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงช่วงกลางปี 2557 ได้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวและการเรียกร้องจากหลายฝ่ายในเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นการแก้ไขสาเหตุรากฐานของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นการป้องกันมิให้วงจรความขัดแย้งเกิดขึ้นวนเวียนเหมือนดังเช่นในอดีต

จากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป., 2555) ได้วิเคราะห์และชี้ให้เห็นว่าในช่วงระยะเริ่มแรกของความขัดแย้ง หรือระยะบ่มเพาะความขัดแย้งนั้น ปัจจัยที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งมีหลายปัจจัย และมีความโยงใยสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ไม่ได้มีมูลเหตุใดเพียงลำพังที่เป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีการก่อตัว บ่มเพาะ และปะทุเป็นวงจรที่ต่อเนื่องยาวนาน และมีปัจจัยที่หลากหลาย สำหรับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีปัจจัยที่สำคัญเกี่ยวข้อง 6 ปัจจัย ได้แก่ ความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองและชนบท ความแตกต่างระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม การครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม นโยบายและกลไกของรัฐที่ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้ และการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเชิงโครงสร้างในสังคม ทำให้สังคมไทยมี 2 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นผู้ปกครองที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตและมีอำนาจทางการเมือง กับ ชนชั้นผู้อยู่ใต้ปกครอง  หรือประชาชนที่ด้อยโอกาสในลักษณะของสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม แต่ความขัดแย้งยังไม่ปรากฏอาการและไม่แสดงออกถึงความรุนแรงเพราะยังมีโครงสร้างทางสังคม เช่น วัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ การต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ที่ลงตัวในกลุ่มชนชั้นนำ บทบาทของรัฐเป็นแบบรัฐสงเคราะห์ เป็นต้น ทำหน้าที่ในการรักษาสมดุลทางอำนาจระหว่างทั้งสองชนชั้น ต่อเมื่อสังคมไม่สามารถจัดการความขัดแย้งได้อย่างเหมาะสม เมื่อมีปัจจัยอื่นเป็นตัวกระตุ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ความตื่นตัวเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองจากรัฐธรรมนูญ 2540 ฯลฯ ประกอบกับกลไกจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้อยประสิทธิภาพ ความขัดแย้งจึงยกระดับไปสู่ระดับการช่วงชิงอำนาจและการเกิดความรุนแรงในที่สุดดังนั้น การป้องกันมิให้ความขัดแย้งขยายตัวและยกระดับไปสู่การเกิดความรุนแรง จำเป็นต้องมุ่งแก้ไขปัจจัยต่างๆ ที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่ในระดับเริ่มต้นและระยะบ่มเพาะ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นก็คือประเด็นการปฏิรูปหัวข้อต่างๆ ที่มีกระแสเรียกร้องอยู่ในเวลานี้

 ในช่วงเวลานี้นับเป็นโอกาสสำคัญของการผลักดัน ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยให้เกิดความก้าวหน้า เนื่องจากมีความตื่นตัวอย่างมากของภาคประชาสังคม ทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นของการเดินหน้าปฏิรูปเพื่อเป็นการแก้ไขสาเหตุรากฐานของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมของประเทศไทย แม้ว่าในอนาคตอันใกล้จะได้มีการจัดตั้ง “สภาปฏิรูป” ขึ้นโดยธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเป็นกลไกระดับชาติที่ขับเคลื่อนการปฏิรูป อย่างไรก็ดี เพื่อให้การปฏิรูปครั้งนี้เกิดความก้าวหน้าและมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลสำเร็จ และไม่ให้หน้าต่างแห่งโอกาสการปฏิรูปครั้งนี้สูญเสียไป จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาอย่างบูรณาการ และจำเป็นต้องมีพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่าย ทุกกลุ่มการเมืองได้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการปฏิรูป และมีกลไก กิจกรรมที่สามารถรองรับความตื่นตัว ความต้องการมีส่วนร่วมของพลเมือง เพื่อให้เกิดพลังทางสังคมที่จะหนุนเสริมกระบวนการปฏิรูปของประเทศให้ประสบความสำเร็จ

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com