โครงการ "การศึกษาแนวทางและขั้นตอนกระบวนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ" (พ.ศ.2554)


ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 ได้พิจารณาระเบียบวาระการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับทราบและตระหนักถึงเจตนารมณ์ บทบัญญัติ และมาตรการป้องกันผลกระทบจากการค้าเสรีระหว่างประเทศในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ พ.ศ.2552 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 ที่ 1.2 (การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และมติที่ 1.4 (การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายการเจรจาการค้าเสรี) และครั้งที่ 2 มติที่ 2.5 (ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ) และ แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ.2553 – 2557

ที่ประชุมดังกล่าวมีความห่วงใยและกังวลต่อผลกระทบด้านลบจากการค้าเสรีในสินค้าที่มีผลต่อสุขภาวะและสังคม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าคุณธรรมได้แก่ ยาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ รวมถึงสถานการณ์ที่รายการสินค้าดังกล่าว ถูกรวมเข้ากับรายการสินค้าธรรมดาอื่นในความตกลงการค้าเสรี และกังวลต่อช่องว่างของระบบในการกำหนดกรอบการเจรจาการค้าเสรีทุกระดับทั้งที่มีผลบังคับใช้แล้ว หรือกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา และที่จะมีการเจรจาในอนาคตรวมทั้งได้ตระหนักถึงข้อจำกัดของกลไกและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศด้านสินค้าที่มีผลต่อสุขภาวะและสังคม และด้านบริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการดำเนินการอย่างบูรณาการ การมีส่วนร่วม การนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และการใช้ความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งข้อจำกัดในการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี

แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ในมาตรา 190 ระบุขอบเขตเงื่อนไขของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ฝ่ายบริหารจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติก่อนไปแสดงเจตนาผูกพัน เพิ่มการมีส่วนร่วมของรัฐสภาและภาคประชาชนตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นการเจรจา รวมทั้งกำหนดให้มีการจัดทำกฎหมายเฉพาะด้านการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศ (ในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะดังกล่าวใช้บังคับ) แต่กลไกและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาที่รวมทุกภาคส่วนในสังคมยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของภาคประชาชนว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนใดได้บ้าง ด้วยวิธีการใด อย่างไร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องศึกษากลไก กระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มด้วยการเจรา จนถึงขั้นตอนสุดท้าย ที่ประเทศไทยได้เคยดำเนินการมา และกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะในสินค้าและบริการที่มีผลต่อสุขภาวะและสังคมให้สามารถเข้าถึงกระบวนการเจรจาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมสูงสุด

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com