โครงการ "การประเมินผลกระทบจากมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Border carbon Adjustment) และการเตรียมความพร้อมของไทย เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศ" (พ.ศ.2553 - พ.ศ.2554)


พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นความตกลงที่ระบุให้กลุ่มประเทศในภาคผนวกที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วมีพันธกรณีในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น และเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้มีความพยายามออกมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Border Carbon Adjustment: BCA) เพื่อลดความได้เปรียบของสินค้านำเข้าที่มีระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสูงกว่าการผลิตในประเทศ

หากประเทศสหรัฐอเมริกามีการประกาศใช้มาตรการ BCA ดังกล่าว ตามร่างกฎหมาย American Power Act (APA) จะมีสาขาการผลิตที่จะต้องถูกบังคับให้ซื้อใบอนุญาตฯตาม International Reserve Allowance Program จำนวน 2 สาขา คือ สาขาเหล็กและเหล็กกล้า และสาขาโลหะอื่นๆ แต่ตามร่างกฎหมาย The American Clean Energy and Security Act (ACES) จะมีจำนวน 6 สาขา ได้แก่ การทำเหมืองแร่อื่นๆ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ผลิตภัณฑ์อโลหะ เหล็กและเหล็กกล้า โลหะอื่นๆ และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมและถ่านหิน

จากการประเมินผลกระทบของการใช้มาตรการ BCA โดยใช้แบบจำลอง GTAP Version 7 โดยทำการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสมมูลต่อสินค้านำเข้าไปยังสหรัฐฯ ตามอัตราที่คำนวณจากความแตกต่างของคาร์บอนที่สูงกว่าของสหรัฐอเมริกา ภายใต้ข้อสมมติราคาคาร์บอนที่สามระดับคือ $11, $20, และ $50 ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่า ผลกระทบของมาตรการ BCA ต่อสวัสดิการสังคมของสหรัฐฯ ทั้งสองร่างมีผลไม่มากนัก ในขณะที่ประเทศไทยพบว่าสวัสดิการโดยรวมจะจะลดลงภายใต้กฎหมาย ACES แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยภายใต้กฎหมาย APA ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ของไทยจะมีสวัสดิการลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย และ บราซิล แต่ประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 เช่น ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ต่างได้รับผลประโยชน์พลอยได้จากการใช้มาตรการ BCA ไปด้วย

ผลกระทบของ BCA ตามกฎหมายทั้งสอง ต่อมูลค่าการส่งออกค่อนข้างต่ำมาก ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่แข่งกับไทย มีทิศทางที่คล้ายคลึงกันกับของไทย อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้มาตรการ BCA เองกลับส่งออกได้ลดลงแทบทุกสาขา

งานศึกษาชิ้นนี้ยังพบว่ามาตรการ BCA ส่งผลให้มีการลดลงของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกน้อยมาก แต่กลับทำให้สหรัฐอเมริกามีการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ BCA ในแง่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน รัสเซีย และอินเดีย

งานวิจัยนี้ยังได้ออกแบบสอบถามเพื่อตรวจสอบถึงความรับรู้ถึงกฎหมายดังกล่าว และพบว่า
การรับรู้เกี่ยวกับมาตรการ BCA ยังมีอยู่ไม่มากนัก ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการปรับตัว เพื่อรองรับมาตรการฯ ดังกล่าวเท่าที่ควร เนื่องจาก ความรับรู้ที่ค่อนข้างน้อยและยังคงไม่แน่ใจว่ามาตรการ BCA จะถูกนำมาใช้จริงหรือไม่ 

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com