โครงการ "เสวนานโยบายสาธารณะการพัฒนาอุตสาหกรรมข้ามชาติในการบริหารความเสี่ยงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" (พ.ศ.2549 - พ.ศ.2550)


ในปัจจุบัน การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศต่างๆ ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าแนวทางทุนนิยมภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์กำลังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หากประเทศกำลังพัฒนาต้องการถูกผนวกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต(Global Value Chain) จำเป็นต้องอาศัย แรงงานราคาถูก และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อเป็นแหล่งผลิตสินค้า และตลาดระบายสินค้า ดังนั้น แนวทางดังกล่าวจึงมักถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เสมือนหนึ่งเป็นมาตรฐานสากล แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกลไกจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการก็มิอาจปฎิเสธแนวทางดังกล่าว เช่นเดียวกันประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมาของประเทศไทยกลับไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของชีวิตผู้คนในภาคส่วนเหล่านี้  ทั้งนี้จะพบว่าในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะมีลักษณะปิดกั้นการมีส่วนร่วม ขาดธรรมาภิบาลในกระบวนการบริหารจัดการและมุ่งไปสู่นโยบายที่รองรับการตัดสินใจจากเบื้องบน โดยขาดการพิจารณามิติอื่นๆ อย่างรอบด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาวะของคนงาน ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนฐานทรัพยากรในชุมชน จึงทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะแทนที่จะบูรณาการเพื่อชีวิตของสามัญชนชาวบ้าน กลับตอบสนองต่อผู้มีอำนาจทางการเมือง นักลงทุน บริษัทข้ามชาติ และกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งเห็นได้จากนโยบายต่างๆ เช่น การพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม การจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเปิดเสรีทางการค้า การบริการและการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนั้น จากการศึกษาวิจัยจำนวนมากพบว่าการพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อเนื่องทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ เช่น การศึกษาวิจัยโครงการธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 ชี้ให้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ที่เกิดปัญหาและผลกระทบทางสุขภาพต่อแรงงานขณะทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการเสื่อมคุณภาพของน้ำใต้ดินและดินในเขตพื้นที่โรงงานตั้งอยู่ และบริเวณใกล้เคียง เป็นต้น ผลกระทบจากตัวอย่างดังกล่าวยังไม่รวมถึงผลกระทบในด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลกระทบจากการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว และการละเลยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ทำให้ขาดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศ ดังนั้น ในขณะเดียวกันผลกระทบทั้งหมดยังถูกผลักภาระความเสี่ยงอันตราย (Risks)ไปแก่คนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนชั้นล่างที่ต้องแบกรับภาระผลกระทบในภาวะที่ไม่สามารถผนวกตนเองเข้ากับกระแสดังกล่าวได้

ในขณะอีกด้านหนึ่งของสังคมไทย มีความพยายามจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ เช่น ชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ที่หันกลับมาให้ความสนใจในการนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากกลไกการพัฒนาแบบเดิม และเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ในฐานะผู้ผลิตหรือผู้บริโภคพยายามเริ่มต้นผลิตหรือบริโภคภายใต้ขอบเขตของรายได้หรือทรัพยากรที่ตนเอง มีอยู่โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการลดการพึ่งพา เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดความเสี่ยงจากผลกระทบในด้านต่างๆ

ดังนั้น ท่ามกลางภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นในการเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์แบบเดิมในปัจจุบัน อาจมองในด้านบวกได้ว่า เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้แก่การทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศ และปรับกระบวนการพิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในฐานะเป็นนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่กระทบต่อผู้คนหลายฝ่าย จึงถือโอกาสนี้เป็นการเปิดช่องทางเพื่อร่วมกันทบทวน ตรวจสอบองค์ความรู้จากการวิจัยและข้อคิดเห็นที่ผ่านมา เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของไทย พร้อมกับนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพิจารณาในฐานะหลักการบริหารความเสี่ยงในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างมีนัยสำคัญด้วย

ในการนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดจากผลการศึกษาวิจัย “โครงการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ซึ่งสถาบันธรรมรัฐฯ ได้ดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ให้มีความชัดเจนและเกิดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โครงการนี้จึงได้หยิบยกกรณีการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมข้ามชาติประเภทหนึ่งมาเป็นกรณีศึกษาของโครงการ

เนื่องจาก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย เนื่องจากได้ส่งผลดีต่อภาวะการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่นำมาซึ่งรายได้จากการส่งออกสูง โดยข้อมูลจากสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงอุตสาหกรรม ใน พ.ศ.2547 พบว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออกถึง 789,272 ล้านบาท อย่างไรก็ตามถึงแม้ประเทศไทยจะได้รับผลดีในเชิงเศรษฐกิจ แต่พบว่าการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งวัตถุดิบและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ดังนั้นประโยชน์ในส่วนที่ประเทศไทยได้รับจริงๆ คือ มูลค่าเพิ่มได้ในส่วนของค่าแรงงาน ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่กระจายไปยังแรงงานเพียงร้อยละ 10.80 เท่านั้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นตัวอย่างของโลกาภิวัฒน์การผลิตด้านอุตสาหกรรม ซึ่งมีห่วงโซ่ของการผลิตหรือขั้นตอนการผลิตต่างๆ เริ่มตั้งแต่การทำวิจัยและพัฒนาการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนพื้นฐาน การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เป็นอุปกรณ์จนถึงการประกอบมาเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มีการกระจายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก อย่างไรก็ดีประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นผู้กุมบังเหียนที่แท้จริงในการควบคุมอุตสาหกรรมนี้ แม้ว่าขั้นตอนการผลิตในหลายระดับได้เคลื่อนย้ายมายังประเทศแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนและการประกอบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปัจจัยแรงงานราคาถูกทำให้ดูเสมือนว่าไทยมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมประเภทนี้ ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในรูปการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment :FDI) เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาในระดับของการวิจัยและการออกแบบ ประเทศไทยก็จะอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพิงทั้งวัตถุดิบในการประกอบชิ้นส่วน เทคโนโลยีและการกำหนดทิศทางการผลิตจากต่างประเทศโดยตลอด ซึ่งมีผลทำให้ที่ผ่านมาไทยขาดความมั่นใจและอำนาจต่อรอง เนื่องจากข้ออ้างในการย้ายฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนค่าแรงงานที่ถูกกว่า เช่น จีนและเวียดนาม เมื่อประกอบกับการดำเนินนโยบายการพัฒนาที่เน้นมิติทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว โดยละเลยความสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมส่งผลกระทบทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนได้หากเราขาดกระบวนการทางนโยบายและการจัดการที่มีธรรมาภิบาล

ตัวอย่างเช่นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จากเอกสารตีพิมพ์ที่ติดตามเหตุการณ์ที่เป็นข่าวอือฉาวในหุบเขาซิลิคอน รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานผลกระทบภายนอกจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ต้องใช้สารเคมีอันตรายเป็นจำนวนมาก สารเคมีบางส่วนได้ซีมเปื้อนน้ำใต้ดิน ทำให้นำใต้ดินเป็นพิษเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยคนงานและชุมชนในบริเวณใกล้เคียง เกิดคดีคนงานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากโรงงาน โดยนาย James Jim Moor ซึ่งล้มป่วยเพราะมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง (Hodgkins Lymphona) และนางสาว Hernandez ซึ่งล้มป่วยเพราะมะเร็งเต้านมทั้งสองได้ฟ้องศาลให้ดำเนินคดีกับริษัท IBM เพื่อชดเชยค่าเสียหาย

สำหรับ กรณีของไทย ในปี 2535 ประเทศไทยได้เปิดรับการลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา โดยโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนที่มีสิทธิพิเศษนานาประการ ทางการของไทยยอมลดหย่อนเงื่อนไขการลงทุนบางรายการ โดยไม่คำนึงเงื่อนไขการปกป้องคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนได้ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทรอนิกส์ที่เข้ามาตั้งในไทยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์จากบริษัทแม่ในประเทศผู้ลงทุนเอง เทคโนโลยีการผลิตเป็นเพียงการเชื่อมแผ่นซิบ (Chip) ที่ต้องมีขั้นตอนการกัดเซาะร่องบนแผ่นวงจรรวม (IC) แล้วใช้โลหะตะกั่ว ทองแดงเชื่อมยึดติด ทำให้เกิดความร้อนไอระเหยของโลหะหนักดังกล่าว ถ้ามีการป้องกันไม่รัดกุม การฟุ้งกระจายของไอระเหย เมื่อคนงานสัมผัส สูด ดม เข้าสู่ร่างกายสมนานวันย่อมเกิดผลเสียต่อสุขภาพ ดังเช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา

เอกสารดาวน์โหลด

  1. ปกรายงานโครงการเสวนาสาธาณะฯ สถาบันธรรมรัฐ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  2. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการเสวนาฯ สถาบันธรรมรัฐ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com