“เราไม่สามารถมีโลกที่แข็งแรง หากปราศจากมหาสมุทรที่แข็งแรง” UN เตือนภาวะฉุกเฉินของมหาสมุทร


ในการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับมหาสุมทรที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ถึง 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางผู้นำระดับโลกกว่า 20 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมสำคัญประการหนึ่งว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับ ‘ภาวะฉุกเฉินทางมหาสมุทร'

กูเตอร์เรสอธิบายว่า ตามรายงานสภาวะอากาศโลกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกในปี 2564 สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล, ความร้อนจากมหาสมุทร, ความเป็นกรดในมหาสมุทร รวมไปถึงความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก ล้วนเป็นสถานการณ์ที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำและเมืองชายฝั่งต้องเผชิญกับน้ำท่วม ขณะที่มลพิษต่างๆ ก็กำลังทำให้ชายฝั่งทะเลอันกว้างใหญ่กลายเป็น ‘เขตมรณะ’ (Dead Zones) หรือพื้นที่ขาดออกซิเจนจนสิ่งที่มีชีวิตไม่สามารถอยู่อาศัยได้ มลภาวะทางทะเลเพิ่มขึ้นในขณะที่ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำลดลง รวมถึงปลาฉลามและปลากระเบนซึ่งมีประชากรลดลงมากกว่า 70% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้นกูเตอร์เรสยังกล่าวถึงความจริงที่ว่า น้ำเสียเกือบ 80% ของโลกถูกปล่อยลงทะเลโดยไม่มีการบำบัด ในขณะที่ขยะพลาสติกอย่างน้อย 8 ล้านตันจะเข้าสู่มหาสมุทรในแต่ละปี “หากปราศจากการแก้ปัญหาอย่างเข้มงวด พลาสติกอาจมีน้ำหนักมากกว่าปลาในมหาสมุทรทั้งหมดภายในปี 2050” กูเตอร์เรสกล่าวย้ำ

“เราไม่สามารถมีโลกที่แข็งแรงได้หากปราศจากมหาสมุทรที่แข็งแรง” นี่คือคำที่เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวไว้ ก่อนที่เขาจะเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ยกระดับความใส่ใจต่อสุขภาพโลก รวมไปถึงเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ “มหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์จะมีความสำคัญต่ออนาคตของพวกเรา” กูเตอร์เรสย้ำ

กูเตอร์เรสได้อ้างอิงถึง ‘ความเห็นแก่ตัว’ ของบางประเทศที่ขัดขวางข้อตกลงใน ‘สนธิสัญญาทะเลหลวง’ (ทะเลที่ไม่ใช่น่านน้ำภายใน, ทะเลอาณาเขต, หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐใด) สนธิสัญญาที่เกี่ยวกับการปกป้องมหาสมุทรของโลก โดยในช่วงที่ผ่านมา บางประเทศสมาชิกสหประชาชาติยังถูกนักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากการไม่ร่วมข้อตกลงในแผนงานปกป้องทะเลหลวงจากการแสวงประโยชน์ โดยในปัจจุบัน จาก 64% ของพื้นที่ทะเลหลวงที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตของรัฐต่างๆ มีเพียง 1.2% เท่านั้นที่ถูกคุ้มครองอยู่

เขายังให้คำแนะนำหลายประการเกี่ยวกับการจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะช่วยมหาสมุทรผลิตอาหารได้มากถึงหกเท่า และสร้างพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 40 รวมทั้งการปกป้องมหาสมุทรและผู้คนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

กูเตอร์เรสอธิบายว่า ปัจจุบันผู้คนมากกว่า 3.5 พันล้านคนต้องพึ่งพามหาสมุทรเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ในขณะที่คนกว่า 120 ล้านคนทำงานเกี่ยวกับประมงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยตรง ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ทว่าในบรรดาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติจำนวนหลายข้อ เป้าหมายข้อที่ 14 ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์และการใช้สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน กลับได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ น้อยที่สุดจากเป้าหมายทั้งหมด

ด้าน อูฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา ประธานร่วมของการประชุมในครั้งนี้ ได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า “มหาสมุทรเป็นทรัพยากรที่คนเห็นคุณค่าน้อยที่สุดในโลก” และกิจกรรมของมนุษย์ก็ทำให้มหาสมุทรตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ ‘เครียดอย่างใหญ่หลวง’

“การจัดการที่ไม่ดีจะลดความสามารถตามธรรมชาติของมหาสมุทรในการฟื้นฟูตัวเอง มันน่าประหลาดใจมากที่เราจะเสี่ยงกับทรัพยากรที่สำคัญเช่นนี้”

ขณะที่ มาร์เซโล เรเบโล เด ซูซา ประธานาธิบดีโปรตุเกสและประธานร่วมของการประชุมได้ย้ำเตือนว่า สงครามและโรคระบาดใหญ่จะต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการละเลยมหาสมุทร “เราต้องชดเชยเวลาที่สูญเสียไปและให้โอกาสกับคำว่า ‘ความหวัง’ อีกครั้ง ก่อนที่มันจะสายเกินไป”

อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ที่นครนิวยอร์ก น่าจะมีการประชุมเจรจาเพื่อหาข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวง และน่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะได้รู้ว่า ‘ภาวะฉุกเฉินทางมหาสมุทร’ จะถูกปล่อยให้ลุกลามต่อไป หรือจะมีหนทางคืบหน้าอย่างไรบ้างในอนาคต

อ้างอิง : The Guardian, UN, Aljazeer, Green Peace

ที่มา : https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/101751 วันที่ 3 กรกฎาคม 2565

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com