COP26 ปักธงปี 2583 หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอซซิลผลิตพลังงาน


อังกฤษ เจ้าภาพ COP26 เสนอพันธสัญญายกเลิกการใช้ถ่านหินผลิตพลังงานภายในปี 2583 ต้นเหตุก่อภาวะโลกร้อน ลั่นให้เงินสนับสนุนประเทศยากจนลงทุนพลังงานสะอาด

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 รอยเตอร์ส รายงานว่า โปแลนด์ เวียดนาม ชิลี และประเทศอื่นๆ จะให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และหยุดการสร้างโรงงานแห่งใหม่ ตามข้อตกลงที่เจ้าภาพการประชุมสุดยอด COP26 อย่างอังกฤษ กล่าวว่าจะให้ 190 ประเทศและองค์กรต่าง ๆ ยุติการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน

เนื่องจากถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษมากที่สุดและปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ ทั้งยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการยุติการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนี้ มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศตามที่ได้ตกลงกันทั่วโลก

รัฐบาลอังกฤษกล่าวว่า การลงนามในข้อตกลงนี้ เพื่อชะลอการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ทั้งในและต่างประเทศ และยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจนถึงปี 2573 ในประเทศที่ร่ำรวย และในปี 2583 สำหรับประเทศยากจน

“ใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของถ่านหินแล้ว โลกกำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมที่จะปิดผนึกชะตากรรมของถ่านหิน และโอบรับผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด” ควาซี ควาร์เตง เลขาธิการธุรกิจและพลังงานของอังกฤษ กล่าว

นอกจากนี้ พันธมิตร Powering Past Coal Alliance ซึ่งเป็นแคมเปญระดับนานาชาติที่มุ่งเป้าไปที่การเลิกใช้เชื้อเพลิง กล่าวว่า มีสมาชิกใหม่ 28 ราย รวมถึงยูเครน ซึ่งให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้เชื้อเพลิงภายในปี 2578 โดยยูเครนใช้ถ่านหินผลิตพลังงานได้ประมาณหนึ่งในสามเมื่อปีที่แล้ว

ปัจจัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับโลกที่ร้อนขึ้นจากมลพิษ ขณะที่สถานะทางเศรษฐกิจในการผลิตถ่านหินนั้นแย่ลง ได้จำกัดขอบเขตของส่วนแบ่งในประเทศตะวันตกที่ร่ำรวยอย่าง อังกฤษ เยอรมนี และไอร์แลนด์ในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา

แต่ถ่านหินยังคงผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 37% ของโลกในปี 2562 ด้วยความต้องการไฟฟ้าที่สูง บวกกับราคาถูกและหาได้ง่าย ทำให้เชื้อเพลิงมีอำนาจเหนือการผลิตไฟฟ้าในประเทศต่าง ๆ รวมถึงแอฟริกาใต้ โปแลนด์ และอินเดีย ประเทศเหล่านี้จะต้องมีการลงทุนมหาศาล เพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมและภาคพลังงานของตนไปสู่แหล่งพลังงานที่สะอาดกว่า

ท่อส่งถ่านหินทั่วโลกสำหรับการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ได้หมดประโยชน์ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจีน อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซียจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่วางแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

สหราชอาณาจักรไม่ได้ยืนยันว่าประเทศเหล่านั้นจะมีส่วนร่วมในการลงนามสัญญาถ่านหินใน COP26 แต่การลงนามของเวียดนามนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการท่อส่งถ่านหิน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้าง

ด้านจีน ได้กล่าวในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่าจะยุติการให้ทุนแก่โรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศ ถึงแม้ว่าสัญญาลงนามจะไม่ครอบคลุมโครงการในประเทศก็ตาม

แถลงการณ์ทางการเงินคาดว่าจะมีขึ้นที่การประชุม COP26 ในวันพฤหัสบดีนี้ (ตามเวลาท้องถิ่น) ควบคู่ไปกับการทำพันธสัญญาถ่านหิน รวมถึงการลงทุนครั้งใหม่ในพลังงานสะอาด และเงินทุนเพื่อสนับสนุนคนงานและภูมิภาคที่พึ่งพาภาคถ่านหินในการดำรงชีพ

ประเทศต่าง ๆ รวมถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกาประกาศให้ความร่วมมือมูลค่า 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐ กับแอฟริกาใต้ในการประชุม COP26 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนผ่านมา เพื่อช่วยให้แอฟริกาใต้ยกเลิกการใช้ถ่านหินได้เร็วยิ่งขึ้น

ภาพจาก pixabay
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com