#SaveChana : SEA จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของจะนะได้จริงหรือไม่?


การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) หรือที่เรียกสั้นๆว่า การศึกษา SEA ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุยมากขึ้น หลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น อ.จะนะ จ.สงขลา เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครเพื่อพูดคุยและเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รวมถึงขอให้จัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)

การศึกษา SEA จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของชุมชนชาวจะนะหรือไม่? เพราะเป็นเวลาเกือบครึ่งปีแล้วแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นจึงได้เปิดเวทีร่วมพูดคุยถึงความคืบหน้าของ SEA รวมทั้งสื่อสารกับคนเมืองผ่านงาน ‘อะโบ๊ยหมะ ครั้งที่ 7 เลจะนะบุกกรุง’ เพื่อย้ำว่าจะนะนั้นมีดีเกินกว่าที่จะกลายเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม

เรารวบรวมและสรุปประเด็นจากเสวนา ‘SEA กับการกำหนดอนาคตจะนะ’ ผ่านมุมมองของนักกฎหมาย คุณอมรินทร์ สายจันทร์ จาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) คุณณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ ผู้ประสานงานด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซประเทศไทย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู และมุมมองจากชาวบ้านจะนะ   คุณนูรี โต๊ะกาหวี โดยมี คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย

ผ่านไป 6 เดือน ยังไม่มีวี่แววคณะกรรมการประเมิน SEA มีแต่คำสั่งฟ้องดำเนินคดีชาวบ้าน

คุณนูรี โต๊ะกาหวี ตัวแทนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า หลังจากที่ชาวบ้านรวมตัวเรียกร้องร้องรัฐให้จัดทำการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ดงักล่าวไปเมื่อปีที่แล้ว ทว่าปัจจุบันยังไร้วี่แววของหน่วยงานที่จะเข้ามาทำการศึกษา แตกต่างจากการทำข้อมูลการประเมินผลกระทบโดยชุมชนเอง ซึ่งตอนนี้เรารวบรวมข้อมูลได้กว่า 70% แล้ว

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณอมรินทร์ สายจันทร์ จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) หนึ่งในหน่วยงานภาคประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ร่วมกับเครือข่ายชุมชนอธิบายว่า Enlaw ก็ได้รับข้อมูลใกล้เคียงกับชุมชน กล่าวคือยังอยู่ในช่วงของการพูดคุยตกลงกันว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการที่จะมาศึกษา SEA จะต้องมีใครบ้าง เช่น ภาคประชาชนมีใครบ้าง ภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เราต้องช่วยกันติดตามกันอย่างใกล้ชิด

ในขณะเดียวกันการดำเนินคดีกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทั้ง 37 คนก็เกิดขึ้นแล้ว หลังจากถูกสลายการชุมนุมเมื่อปลายปี 64 ตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้องส่งตัวต่ออัยการ ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน 

แต่ตอนนี้ภาครัฐพยายามหาข้ออ้าง ข้อติดขัดต่างๆ เช่น ไม่มีกฎหมายชัดเจนและยังไม่มีระเบียบการรองรับ ถึงแม้จะมีมติ ครม.ออกมาให้จัดทำการศึกษา SEA แล้วก็ตาม ทั้งที่จริงๆแล้วเรามี กฏหมายรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 58 ระบุว่าการดำเนินการใดที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ วิถีชีวิตของชุมชนจะต้องมีการศึกษาประเมินผลกระทบก่อน และ ในกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ถูกแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2561 ระบุว่าหากพื้นที่ใดมีการทำ SEA และทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) รายโครงการต้องคำนึงถึงผลงานการศึกษา SEA

หลังจากนี้เราหวังว่าคณะทำงานประเด็นดังกล่าวจะทำตามมติ ครม. ที่ให้ไว้โดยไม่มีการบิดพริ้วเกิดขึ้น

ถ้าถามว่าเพียงแค่การตั้งคณะกรรมการในการประเมินการศึกษา SEA ใชเ้วลาถึง 6 เดือน ล่าช้าหรือไม่ ก็มองว่าค่อนข้างล่าช้า สิ่งที่รวดเร็วคือการดำเนินคดีกับชาวบ้าน ยิ่งไปกว่านั้นการที่ชาวบ้านโดนคดีในครั้งนี้เป็นเพราะว่าชาวบ้านเดินทางมาเรียกร้องให้มีการทำ SEA ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจะทำตั้งแต่แรก พวกเขาเรียกร้องในสิ่งที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้อยู่แล้ว

ขั้นตอนของคดีต่อจากนี้ก็จะถูกส่งไปที่อัยการพิจารณาว่าเห็นด้วยกับทางตำรวจหรือไม่ ตอนนี้มีกำหนดช่วงเวลาเดือนกันยายนเพื่อรอฟังผลกันอีกครั้ง ทางชุมชนและทนายความได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปด้วยว่า เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นเพราะประชาชนเดินทางมาเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพเพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บ้านเกิดซึ่งจุดประสงค์ก็เพื่อส่วนรวม และการไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลในครั้งนั้นก็ไปโดยสงบไม่ได้ก่อความวุ่นวายอะไรเลย

SEA มีความสำคัญต่อปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะอย่างไร?

ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อธิบายว่า SEA คือกระบวนการการมีส่วนร่วม การนำเอามิติด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาวิเคราะห์พิจารณาร่วมเวลาที่เราทำแผนหรือนโยบาย เพราะการนำเอาทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาพิจารณาร่วมกันจะทำให้เราดำเนินการไปในทิศทางที่ยั่งยืน พอได้ยินแบบนี้แล้วเราก็คิดไม่ถึงว่ามันจะนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้าน

หากเราพิจารณาจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่มีใครกระทำกับประชาชนแบบนี้ เขาทำในสิ่งตรงกันข้ามกันคือหากพื้นที่ใดมีแผนการจะทำโครงการอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เช่น หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ต้องทำ EIA ว่าโครงการอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรและมีวิธีการแก้ไขอย่างไร อย่างไรก็ดีนี่คือแนวคิดขั้นต้น

จนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นว่ากระบวนการมันยังมีจุดอ่อนคือกระบวนการดังกล่าวให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่จะตั้งโครงการแทนที่จะเข้ามาสำรวจศักยภาพของพื้นที่ก่อน ไม่ได้ให้ความสำคัญในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านความเสี่ยงต่อผลกระทบและโอกาสที่พื้นที่สามารถให้คุณค่าทางเศรษฐกิจได้ นี่คือที่มาของการเกิดกระบวนการ SEA ซึ่งจะมีชุมชนมาร่วมทำการประเมินด้วยและเราจะได้รู้ว่าในพื้นที่นี้นอกจากจุดตั้งโครงการอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีคน มีทรัพยากร มีวิถีชีวิตอะไรอยู่ในพื้นที่นั้น

ปัจจุบันหลายประเทศยังคงทำการประเมิน SEA แบบนี้ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ประเทศบางส่วนในทวีปแอฟริกาก็มีการประเมินแบบนี้ นั่นเพราะประเทศเหล่านี้พวกเขาได้รับบทเรียนว่าสุดท้ายแล้วประชาชนในพื้นที่ใกล้โครงการเขาได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ยกตัวอย่างที่ปากีสถานในช่วงปี 90 ซึ่งยุคที่อุตสาหกรรมเป็นที่นิยมจนไฟฟ้าขาดแคลน จึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ โรงไฟฟ้าจากแหล่งอะไรก็ได้และสามารถไปตั้งที่ไหนก็ได้ นี่เป็นการส่งเสริมที่ไม่เป็นแบบแผน เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดมลพิษ ประชาชนก็ออกมาเรียกร้องจนต้องย้ายโรงไฟฟ้า

เรามองว่า SEA จะเป็นตัวที่ช่วยลดความขัดแย้งในชุมชน เพราะอย่างจะนะตอนนี้มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนกับกลุ่มที่คัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ การประเมินแบบนี้จะเป็นเวทีที่ช่วยให้เรามาคุยกันว่าสุดท้ายนิคมอุตสาหกรรมจะดีหรือไม่ดีต่อพื้นที่ แต่รัฐยังมองไม่เห็นความสำคัญตรงนี้

ความล่าช้าในการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการประเมิน SEA กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่ล่าช้ามาแล้ว 6 เดือน หากยิ่งใช้เวลานานกว่านี้ก็ยิ่งจะทำให้จะนะเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความไม่จริงใจจากภาครัฐอีกด้วย

ประสบการณ์ตรงจากการลงไปสัมผัสพื้นที่จะนะ

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงจากการลงไปร่วมทำข้อมูลกับชุมชนจะนะและนักวิชาการ เราแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน โดยข้อแรกเราประเมินดูมูลค่าของอาชีพที่มีอยู่ในพื้นที่ ประเด็นเชิงสังคมว่ามีมูลค่าอยู่เท่าไหร่ และอีกข้อคือเราใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมในการสร้างโมเดลประเมินว่าหากเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นแล้ว จะเกิดผลกระทบทั้งทางทะเล น้ำ บนดิน อากาศอย่างไรบ้าง

ตามที่คุณนูรีอธิบายไปก็คือ ตอนนี้ข้อมูลที่ชุมชนทำชุดนี้ก็ถูกรวบรวมมาเกือบครบแล้ว แต่ส่วนที่เป็นการรันโมเดลเพื่อประเมินผลกระทบก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลส่วนที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนจากอาชีพในพื้นที่และประเด็นเชิงสังคมมาพูดคุยกับชาวจะนะว่า อาชีพต่าง ๆ ที่เขาทำอยู่รวมทั้งคนที่อยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจมีมูลค่าเท่าไหร่ และเขาจะได้รับผลกระทบจะไปอยู่ที่จุดไหน อย่างไรบ้าง หากเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้น และให้ชาวบ้านเป็นคนประเมิน ตัดสินใจกันว่าชาวบ้านอยากจะพัฒนาบ้านเกิดของเขาไปในทิศทางไหน

SEA ฉบับชุมชน

ข้อมูลที่กรีนพีซ ประเทศไทย นักวิชาการ และชุมชนช่วยกันทำนี้แม้ไม่ใช่ SEA ที่กำลังตั้งคณะกรรมการกันอยู่นั้น แต่ก็ถือว่าเป็นการทำข้อมูลที่ช่วยให้ชุมชนรู้จักสิ่งที่ตัวเขาเองมีอยู่ในพื้นที่

“อย่างกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราพบว่าแม้ว่าระดับการศึกษาของชุมชนส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่รายได้ต่อเดือนจากอาชีพที่เขาพึ่งพาทรัพยากรในพื้นที่นั้นสูงกว่ากลุ่มคนที่ทำงานในกรุงเทพฯอีก ซึ่งเราก็ตั้งข้อสังเกตว่าหากเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นแล้ว ด้วยทักษะและความรู้ที่เขามีมันอาจไม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและพวกเขาอาจกลายเป็นแรงงานราคาถูกในโรงงานอุตสาหกรรม”

“นอกจากนี้กรีนพีซได้ลงไปสำรวจค่ามาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในพื้นที่จะนะ เช่น การวัดค่า มาตรฐาน PM2.5 ที่ปล่อยจากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เราทำสัมภาษณ์กลุ่มกับชาวบ้านเพื่อสำรวจว่าระดับการปล่อยที่ต่ำที่สุดที่ชาวบ้านรับได้อยู่ที่ระดับเท่าไหร่ เพราะเวลาที่เจ้าหน้าที่ลงทำ SEA เขาจะต้องมาถามชาวบ้านเกี่ยวกับตัวเลขพวกนี้ เราก็ต้องให้ข้อมูลกับชาวบ้านต่อว่าแล้วระดับมลพิษที่โรงงานจะปล่อยจากปลายปล่องอยู่ที่เท่าไหร่ และให้ชาวบ้านเป็นคนเลือกเองว่าเขาอยากให้โรงงานปล่อยมลพิษในระดับไหน”

ชุมชนได้อะไรบ้างจากการร่วมทำข้อมูลชุดนี้

คุณนูรีให้ความเห็นว่า การที่ทั้งนักวิชาการและกรีนพีซลงไปทำข้อมูลร่วมกับชุมชนในครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่า จริง ๆ แล้วทรัพยากรที่เราพึ่งพานั้นมีมูลค่ามากแค่ไหน นอกจากมูลค่าทางด้านจิตใจแล้วยังทำให้รู้ว่างานเราทำอยู่ทุกวัน งานที่เราออกทะเลไปจับปลาหน้าบ้าน เราไปเก็บหอยเก็บปู งานที่เราได้รายได้วันละ 1,500 – 2,000 บาทนั้น จริง ๆ แล้วเมื่อคำนวนออกมาเป็นรายได้ต่อปีทำให้เราเห็นว่าเราทำรายได้ได้มหาศาลแค่ไหน นี่เป็นเรื่องที่ชุมชน ว้าว! มาก

“เราเคยมองว่ามันเป็นอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายเรา แต่พอมีการคำนวนออกมาเป็นมูลค่าแล้วมันทำให้เราเห็นว่ามันมีค่ามากทั้งในเชิงเศรษฐกิจและมูลค่าทางจิตใจ”

หากรัฐมาเริ่มกระบวนการประเมิน SEA เราคาดว่าคงไม่ได้ใช้เวลาในการทำข้อมูลนานและชาวบ้านเองก็ไม่ได้อยากเร่งรัดภาครัฐมากจนเกินไปเพราะเราก็ห่วงว่าอาจเกิดข้อบกพร่องในการประเมินได้ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราก็จะช่วยปูพื้นฐานให้คณะที่ทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินโดยแสดงการศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่เราทำมาเพื่อให้ทราบถึงแก่นแท้ของทรัพยากรและพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยรวบรวมเป็นตัวหนังสือ มูลค่า ตัวเลข นอกจากนี้เราอยากให้รัฐบาลให้ความสนใจพวกเราประชาชนชาวจะนะที่ร่วมกันเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมที่จะได้เลี้ยงชีพจากทรัพยากรและปกป้องพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่

“เราไม่ได้เร่งรัดให้มาทำแต่เราอยากให้รัฐเข้ามาทำ SEA นี้ด้วยความจริงใจ และอยากให้มองว่าเราชาวบ้านที่ขึ้นมาเรียกร้องให้ทำ SEA เพราะว่าพวกเราอยากจะได้รับความเป็นธรรม”

ที่ผ่านมาเราไม่เห็นความจริงใจจากภาครัฐเลย ในขณะที่เรารอกระบวนการ SEA เราต้องขึ้นมารายงานตัวในคดีต่าง ๆ แต่หน่วยงานรัฐก็พยายามจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการอุตสาหกรรมดังกล่าวทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่า มติ ครม.สั่งให้ระงับกิจกรรมทุกอย่างแล้วตกลงให้ทำการประเมิน SEA นี่คือความพยายามลักไก่ฝืนผลักดันโครงการต่อ

ข้อคำถามจากเอกสารข้อมูลโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่ดำเนินการโดย ศอ.บต.

คุณ อมรินทร์ อธิบายถึงรายละเอียดในเอกสารข้อมูลโครงการอุตสาหกรรมที่จัดทำและดำเนินการโดย ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมติต่าง ๆ เช่น มติที่ให้จะนะเป็นพื้นที่โครงการอุตสาหกรรมก้าวหน้าหากเราเปิดอ่านดูจะเห็นว่ามีการพูดถึงข้อมูลที่เป็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอยู่น้อยมาก สิ่งที่ระบุในเอกสารคือจะมีสารเคมีกี่ชนิดและจะมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างไรเท่านั้น จึงเป็นที่มาของข้อห่วงกังวลและการตั้งคำถามว่า แล้วผลกระทบต่อชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพประมง หรืองานฝีมือที่ควรจะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนนั้นได้ทำการสำรวจไว้หรือไม่ เพราะไม่มีการกล่าวถึงเลย

“เอกสารระบุเพียงแค่ตัวเลขกลม ๆ ที่ว่า จะมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นมา 100,000 อัตรา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าตัวเลขดังกล่าวอยู่ในภาคส่วนไหนบ้าง มีแต่ข้อมูลเชิงบวกต่อโครงการอุตสาหกรรมไม่ได้บอกผลกระทบที่ชาวบ้านอาจได้รับต่อวิถีชีวิต ต่ออาชีพหลังจากนั้น ซึ่งเอกสารชุดนี้กลับเป็นเอกสารที่ถูกนำไปประกอบในเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการเปลี่ยนผังเมืองจะนะจากสีเขียวให้กลายเป็นสีม่วง กลายเป็นเขตอุตสาหกรรม”

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านจะนะออกมาเรียกร้องให้มีการศึกษา SEA เพื่อที่จะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อมาประมวลผลร่วมกันว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

ทางด้าน ดร.เสาวรัจ เสริมว่าเห็นข้อมูลจากเอกสารชุดนี้แล้วก็เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลที่ว่า ข้อมูลผลกระทบโครงการด้านเศรษฐกิจมีอยู่เพียง 1 หน้า และเอกสารยังชูประเด็นเด็ด 2 ประเด็นคือ

  1. นิคมอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดการจ้างงาน 100,000 ตำแหน่ง
  2. จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 30,000,000,000 บาท (สามหมื่นล้านบาท)

“ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ มองไม่เห็นความสมเหตุสมผลว่าอะไรที่จะนำไปสู่ตัวเลขเหล่านี้ได้ ซึ่งเอกสารชุดนี้ไม่ได้ระบุเหตุผลสนับสนุนเอาไว้เลย”

หลายคนตั้งคำถามว่า “ทำไมรัฐบาลไม่ส่งเสริมอาชีพพื้นบ้านของชาวจะนะ” เพราะรัฐมีนโยบาย BCG ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งในอำเภอจะนะเองพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มาก รัฐบาลไม่ทำตามนโยบายนั้นเลยแต่กลับส่งเสริมให้มีโครงการนิคมอุตสาหกรรมของนายทุนมาตั้งที่นี่ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแผนการเปลี่ยนผ่านพื้นที่จะนะให้เป็นผังเมืองสีม่วงเพื่อทำอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลต่อทรัพยากรในพื้นที่และวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมใน อ.จะนะ อีกด้วย

สรุปแล้ว SEA จะเป็นความหวังให้ชาวจะนะ หรือจะกลายเป็นเครื่องฟอกขาวให้ภาครัฐ?

ดร.เสาวรัจ ให้ความเห็นว่า หากรัฐจริงใจและทำตามกระบวนการของ SEA จริงๆ ซึ่งมีหัวใจหลักดังนี้

  1. รวบรวมข้อมูลและให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วม
  2. การประเมินผลกระทบจะต้องบูรณาการเรื่องสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกัน
  3. ประเมินความเสี่ยงและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ จากนั้นต้องพูดคุยหาทางเลือกร่วมกัน

แต่หากรัฐยังคงใช้วิธีการทำงานแบบที่ยังทำอยู่ในตอนนี้ SEA ก็อาจไม่โปร่งใสและกลายเป็นเครื่องฟอกขาวของรัฐได้

สุดท้ายแล้ว ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และกรีนพีซ ประเทศไทย ยังคงเชื่อมั่นว่า SEA จะยังคงเป็นความหวังให้กับชาวจะนะ โดยรัฐต้องจริงใจกับประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและต้องเปิดให้ทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ส่วนคนนอกพื้นที่และประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ก็จะต้องคอยจับตาดูและเรียนรู้จากกรณีของพื้นที่จะนะที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาทำข้อมูลชุมชนเพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง ให้กำลังใจสนับสนุนชาวบ้าน เพราะการได้รับกำลังใจจากคนทั่วประเทศนั้นก็เป็นกำลังสำคัญให้กับชาวจะนะเช่นเดียวกัน

ชาวจะนะจะไม่ยอมแพ้ จะพัฒนาตนเองเพื่อการต่อสู้ในครั้งนี้ ชาวบ้านได้คิดข้อเสนอออกมาด้วยว่า อยากให้รัฐบาลส่งเสริมทางด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การพัฒนาประมงอย่างยั่งยืน การพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน รวมถึงอยากให้เข้ามารับฟังชาวบ้านและพูดคุยกันเพื่อช่วยเหลือชาวจะนะรวมทั้งลูกหลานของพวกเขาด้วย

ที่มา :  Greenpeace Thailand วันที่ 13 มิถุนายน 2565

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com