COP26 : บททดสอบสำหรับมนุษยชาติ ถึงเวลาลงมือทำ


กลาสโกว์, สกอตแลนด์, 29 ตุลาคม 2564 – การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์คือบททดสอบสำหรับเราในฐานะมนุษย์ เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซสากล กล่าว

COP26 ที่เลื่อนมาจากปีที่แล้วจะเริ่มต้นในวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยที่ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะมารวมตัวกันในเมืองหลวงของสกอตแลนด์ในวันจันทร์และวันอังคารที่จะถึงนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นห้วงเวลาทางการเมืองครั้งใหญ่สุดในวิกฤตสภาพภูมิอากาศนับตั้งแต่การประชุมเจรจาในกรุงปารีสเมื่อ 6 ปีก่อน ในขณะที่ความตกลงปารีสตั้งเป้าหมายเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม กลาสโกว์เป็นสถานที่ซึ่งประชาคมโลกต้องตกลงว่าจะบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสอย่างไร

การประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังคงเป็นความท้าทายของรัฐบาลทั่วโลก ความไว้วางใจที่ต่ำและความตึงเครียดที่สูงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมอย่างมากของการกระจายวัคซีนโควิดและการต่อต้านข้อเสนอที่ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS waiver) ของกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือที่จะลดอุปสรรคการผลิตและการจัดสรรวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและเท่าเทียมมากขึ้น การที่ประเทศต่าง ๆ ไม่ดำเนินตามคำมั่นสัญญา และการฟอกเขียวที่กำลังแพร่หลาย วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดทั่วโลก ในขณะที่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกลุ่มประเทศร่ำรวยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เจนนิเฟอร์ มอร์แกน เป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่เข้าร่วมการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศในทุก 25 ครั้งที่ผ่านมาย้อนหลังไปตั้งแต่ COP ที่กรุงเบอร์ลินในปี 2538 หนึ่งวันก่อนการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ เธอกล่าวว่า “COP ที่ปารีสคืองานหมั้น ขณะนี้ เราอยู่ที่งานแต่ง รอดูว่าประเทศต่าง ๆ ที่มีบทบาทหลักและบรรษัทอุตสาหกรรมพร้อมที่จะกล่าวว่า ‘ลงมือทำ’ เราต้องเห็นพันธะกรณี ความมุ่งมั่นและปฏิบัติการจริง ๆ ที่กลาสโกว์ เพราะเป็นสิ่งที่ยังไม่มีก่อนที่การประชุมจะเกิดขึ้น ในขณะที่สองสัปดาห์ต่อไปนี้จะเกี่ยวพันกับความพลิกผันไปมาและไม่แน่นอน ยังไม่สายเกินไปสำหรับผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการที่มีรายละเอียดและทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน”

เจนนิเฟอร์ มอร์แกน กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลาสโกว์คือบททดสอบสำหรับเราในฐานะมนุษย์ เรารู้ทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุและผลกระทบ กลลวงและทางออก หากเราร่วมมือกันอย่างแท้จริงและเคารพซึ่งกันและกันในฐานะสิ่งมีชีวิต เราสามารถสร้างอนาคตที่ปลอดภัยขึ้น เป็นธรรมมากขึ้นและยั่งยืนมากขึ้นสำหรับทุกคน แต่รัฐบาลที่ล้าหลังอย่างออสเตรเลีย บราซิล และซาอุดิอาเรเบียซึ่งเข้าร่วมการประชุมเจรจาที่สกอตแลนด์นั้นมาพร้อมกับแผนการพลิกให้การประชุมเจรจาสภาพภูมิอากาศถอยหลังกลับ บริษัทและรัฐบาลใดๆ ที่คิดจะเป็นแนวร่วมกับรัฐบาลเหล่านี้ควรรู้ไว้ว่าจะต้องได้รับการเปิดโปงและไม่ได้รับการอภัยโดยง่าย”

ความตกลงปารีสตั้งเป้าหมายเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่รัฐบาลของประเทศทั่วโลกที่ลงนามในความตกลงไม่ได้ทำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ระบุไว้จริง ๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ที่กลาสโกว์ โลกสามารถกลับมาสู่แนวทางที่ควรจะเป็นใน COP26 โดยบรรลุการเจรจาในเรื่องสำคัญ กรีนพีซมีข้อเรียกร้องต่อ COP26 ดังนี้

  • ประกาศยุติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ในทันที
  • จัดทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มุ่งมั่นจากผู้นำรัฐบาลทั่วโลกเพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573
  • ปฏิเสธแผนการเปิดตลาดโลกสำหรับการชดเชยคาร์บอน (การชดเชยคาร์บอนเป็นเรื่องหลอกลวงและใช้ไม่ได้) และมีคำมั่นสัญญาที่นำไปสู่การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศที่สร้างการเปลี่ยนแปลง
  • ยืนยันว่าเงินทุน 1 แสนล้านต่อปี มาจากประเทศร่ำรวยไปยังประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่า เพื่อสนับสนุนแผนการปรับตัวจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพื่อชดเชยความเสียหายจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในกลุ่มประเทศเหล่านั้น

เจนนิเฟอร์ มอร์แกน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ฉันเข้าร่วมในทุกการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่เคยเห็นความต่างอย่างชัดเจนเท่าครั้งนี้มาก่อน ในด้านหนึ่ง เราเห็นผู้คนทั้งหลายและประเทศต่าง ๆ ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ผู้แทนรัฐบาลและตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งนั่งถัดจากพวกเขาพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งเวลาให้ทุกสิ่งดำเนินไปตามปกติ โดยไม่สนใจถึงผลกระทบและความทุกข์ยากอันเหลือทนที่ตนก่อขึ้น นี่เป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง”

หากการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ไม่เป็นตามที่เรามุ่งหวัง หากมนุษยชาติและธรรมชาติไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเหนือไปกว่าการแสวงหากำไรที่สร้างมลพิษ เราจะไม่ยอมแพ้ เราจะต้องยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น ผู้คนนับล้านทั่วโลกที่ร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศจะเดินหน้าลงมือทำและสร้างความเป็นธรรม โลกที่ปลอดภัย ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้นอยู่เบื้องหน้าเรา หากผู้นำโลกนั้นชาญฉลาด พวกเขาจะคว้าโอกาสนี้

หมายเหตุ

กรีนพีซซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐในสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ จะส่งตัวแทนจากประเทศต่างๆ รวมถึงกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกาและบราซิลเข้าร่วมการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564

ที่มา :  Greenpeace Thailand 29 ตุลาคม 2564

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com