หรือนี่คือยุคทองของ “การฟอกเขียว”


ลองจินตนาการว่าคุณเป็นซีอีโอของบริษัทใหญ่ที่สร้างคาร์บอนฟุตปริ้นท์มหาศาล มากขนาดที่ว่าไม่ว่าจะเดินไปไหน ทุกคนจะติงว่าธุรกิจคุณต้องลดการปล่อยก๊าซที่ทำลายโลกซะ และต้องทำให้เร็วด้วย

ทีนี้คุณคงจะพอนึกภาพออกแล้วว่าไม่ช้าก็เร็วคุณจำต้องเปลี่ยน แต่คุณก็รู้อีกว่าจะลดการปล่อยมลพิษไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนต้องงัดกับบอร์ดบริหาร นักลงทุน ไหนจะต้องปรับแก้แผนธุรกิจขนานใหญ่อีก

แล้วคุณก็ปิ๊งขึ้นมาได้ว่ามันมีอีกวิธี นั่นคือจ่ายเงินให้บริษัทโฆษณาให้ทำแผนการตลาดที่ทำให้เหมือนคุณกำลังแก้ปัญหามลพิษ นอกจากจะช่วยลดคำครหาจากนักวิจารณ์ทั้งหลาย ยังช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลาไปอีก

วิธีที่ว่านี้คือ การฟอกเขียว (greenwashing) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทุกหนแห่ง ไม่ว่าคุณจะกำลังเติมน้ำมัน จองตั๋วเครื่องบิน หรือเดินช็อปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต คุณได้ตกเป็นเป้าหมายการตลาดฟอกเขียวที่โน้มน้าวว่าทุกอย่างกำลังไปได้ดี เที่ยวบินไร้คาร์บอน น้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาหารที่กำลังกิน ทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero)

อาจพูดได้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เป็น “ยุคทอง” ของการฟอกเขียวก็ว่าได้ แม้โฆษณาชวนเชื่อจะมีมานานแล้ว แต่การที่บริษัททั้งหลายใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนเห็นว่าพวกเขากำลังปกป้องสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่ฮิตติดลมบน

จุดเริ่มต้น “การฟอกเขียว”

คำว่า “การฟอกเขียว” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 – 2533 ซึ่งเป็นช่วงที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤตสภาพภูมิอากาศเริ่มเข้ามาเป็นประเด็นถกเถียงกระแสหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ผู้คนเริ่มกังวลถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้ทำให้สายตาทั้งหลายจับจ้องไปที่บริษัทที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

บอร์ดบริหารของบริษัทจึงจำต้องเลือกระหว่างเปลี่ยนแปลงวิถีธุรกิจหรือควักเงินทำประชาสัมพันธ์ใหม่ แต่หลายคนหันไปทางเลือกทางหลัง โดยเฉพาะบริษัทน้ำมันที่พยายามลบกระแสวิกฤติสภาพภูมิอากาศอยู่หลายสิบปีอยู่หลังฉาก

ตอนนี้พวกเขาเริ่มตระหนักแล้วว่าคนเริ่มจับได้ พวกเขาเลยหันไปใช้การฟอกเขียว

เราต้องกังวลเรื่องนี้มากแค่ไหน ?

สิ่งหนึ่งที่ทั้งการฟอกเขียวและการปฏิเสธถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกมีอยู่เหมือนกัน นั่นคือการชะลอหรือหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม

แต่การฟอกเขียวมาพร้อมกับการสร้างความเข้าใจผิด ๆ ที่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญกำลังได้รับการแก้ไข ทั้งที่จริงแล้วไม่เลย แรงกดดันจากสังคมต่อบริษัทจะค่อย ๆ จางลงไป และการลดการปล่อยมลพิษจะถูกกลบเอาไว้ เพราะงั้น เราควรกังวลกับมัน

เมื่อเราเข้าใจฉากบังหน้านี้แล้ว ทีนี้เรามาดูกันว่าบริษัทต่าง ๆ ฟอกเขียวกันยังไงบ้าง

เมื่อปีที่แล้ว เชลล์ (Shell) ในสหราชอาณาจักรออกโฆษณาทางวิทยุ โปรโมท Shell GO+ ว่าปราศจากการปล่อยคาร์บอน แต่ต่อมาโฆษณาก็ถูกถอดออกเพราะ “ให้ข้อมูลบิดเบือน” หลังจากโดนรีพอร์ทขนานใหญ่

มัน misleading เพราะว่า เชลล์ไม่ได้สนับสนุนรถไฟฟ้าหรือมีพลังพิเศษจากหัวจ่ายน้ำมันที่ทำให้มันเป็น ไร้ซึ่งการปล่อยมลพิษ คนเติมน้ำมันจากปั๊มเชลล์ก็ปล่อยมลพิษเท่าเดิม จริง ๆ แล้ว เชลล์ปล่อยมลพิษโดยไปลงทุนกับโปรเจ็คเพื่อหยุดการทำลายป่าแอมะซอนเสียอย่างนั้น

โครงการอนุรักษ์ป่ายังมีปัญหาที่ต้องถกเถียงกันอีกหลายจุด โดยเฉพาะการประเมินผล เราจะรู้ได้อย่างไรว่าถ้าไม่มีโครงการนี้ป่าจะไม่ดูดซับมลพิษ โครงการอนุรักษ์ป่าเหล่านี้บางครั้งก็ทำในพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งมีกฎหมายห้ามทำลายป่าอยู่แล้ว แล้วโครงการพวกนี้ก็อยู่แค่สิบยี่สิบปี ขณะต้องใช้เวลากว่าร้อยปีเพื่อดูดมลพิษ

หรือสายการบินหลายแห่งทั่วโลกที่เคลมว่าเที่ยวบินของพวกเขา “เป็นกลางทางคาร์บอน” (carbon-neutral)

ปี 2562 สายการบิน easyJet ประกาศว่าเที่ยวบิน EJU5841 เป็นเที่ยวบินไร้คาร์บอน หลังจากนั้น British Airways หรือ Delta ก็ทำในลักษณะเดียวกัน

แม้สโลแกนจะดูดี แต่ที่จริงแล้ว “เที่ยวบินปราศจากคาร์บอน” ไม่ได้มาจากเทคโนโลยีใหม่อะไร แต่สิ่งที่สายการบินเหล่านี้ทำคือการนำเงินไปลงในโครงการอนุรักษ์ป่า เหมือนกับเชลล์นั่นแหละ

และไม่ใช่เรื่องแปลกที่อุตสาหกรรมการบินจะหันมาฟอกเขียว เพราะการบินเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตคาร์บอนกว่าพันล้านตันทุก ๆ ปี นับเป็น 2.5% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก

บางบริษัทผู้ผลิตที่กล่าวอ้างว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกของตนสามารถรีไซเคิลได้ แต่ลืมบอกว่ารีไซเคิลไม่ได้ทั้งหมด บางบริษัทอ้างแม้กระทั่งบอกว่าย่อยสลายได้ แต่ที่จริงแล้วกลายเป็นแค่คำโฆษณาที่ทำให้สินค้าของตัวเองดูรักโลกขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มคนรักษ์โลกและกอบโกยกำไรเพียงเท่านั้น โดยไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

ตัวเราเองทำอะไรได้บ้าง

การฟอกเขียวจะได้ผลมากที่สุดเมื่อคนไม่สงสัย หรือรู้แต่เก็บเงียบ แต่ทันทีที่มีการคอลเอาท์ แผลของมันก็เริ่มเปิด ถ้าคุณอยากให้บริษัทจริงจังในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อม การฟอกเขียวคือสิ่งที่คุณต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด

ถ้าคุณเบื่อฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “เที่ยวบินไร้คาร์บอน” หรือ “น้ำมันไร้คาร์บอน” หนึ่งสิ่งที่คุณสามารถทำได้ง่ายๆเลย คือการเขียนถึงบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์ ยิ่งมีคนพูดมากเท่าไร “เปลือก” ของการฟอกเขียวก็ “ลอก” มากเท่านั้น

ที่มา :  Greenpeace Thailand 11 ตุลาคม 2564

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com