“เปลี่ยนจำเลยเป็นเจ้าภาพ” ชวนคุยแนวคิดเชียงใหม่โมเดลกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 จากล่างขึ้นบน


แม้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศ pm 2.5 จะถูกพูดถึงและหยิบยกเป็นปัญหาระดับชาติในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับเชียงใหม่ ปัญหาฝุ่นควันเป็นประเด็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ชาวเชียงใหม่ต้องใช้ชีวิตกับอากาศเป็นพิษ หายใจติดขัด ดอยสุเทพที่เคยเห็นอย่างชัดเจนถูกบดบังด้วยหมอกฝุ่นจนเห็นได้เลือนรางในช่วงหนึ่งของปี จังหวัดเชียงใหม่ผลัดกับเมืองอื่นๆ ทั่วทุกมุมโลกชิงชัยเข้าสู่อันดับที่หนึ่ง แต่ไม่ใช่ในด้านที่น่าพอใจนักกลับเป็นแชมป์เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก

ผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสุขภาพของประชาชนที่รุนแรงและกินระยะเวลายาวนานเช่นนี้ ทำให้ปีนี้เป็นปีแรกที่เชียงใหม่ตัดสินใจปรับทิศทางการทำงานโดยใช้ชื่อว่า “เชียงใหม่โมเดล” ภายใต้การผลักดันของสภาลมหายใจเชียงใหม่ เปลี่ยนจากรูปแบบการสั่งการเดิม “จากบนลงล่าง” มาเป็น“จากล่างขึ้นบน” เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งดูท่าแล้วมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะถ้อยคำของคนที่ทำงานเล่าว่า “สถานการณ์ฝุ่นในส่วนของเชียงใหม่ ถ้าดูในช่วงเดือนมกราคมเทียบกับปีที่แล้วก็ลดลงประมาณ 60%”

คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา ขอบคุณภาพจากเพจสภาลมหายใจเชียงใหม่


กรีนพีซ ประเทศไทย ชวนคุยกับคุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา หนึ่งในคนที่สนใจและทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมถึงปัญหาฝุ่นควัน และวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนผ่านเชียงใหม่โมเดล

เข้าใจการจัดการฝุ่นควันในอดีตผ่านคนในพื้นที่

ก่อนที่จะเข้าไปรู้จักวิธีแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันในรูปแบบของเชียงใหม่โมเดลที่แตกต่างจากเดิม คุณชัชวาลย์ปูพื้นฐาน เริ่มต้นด้วยการพาไปเข้าใจการจัดการในอดีตกันเสียก่อน

จังหวัดเชียงใหม่จะได้รับผลกระทยจากมลพิษทางอากาศทุกช่วงมีนาคม-เมษายนของทุกปี มลพิษทางอากาศ PM 2.5 มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน (ภาพจากปีพ.ศ. 2562)


“แต่เดิมเชียงใหม่มีรูปแบบการจัดการฝุ่น อย่างแรกเขา (ส่วนราชการ) มองว่าปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 เป็นอุบัติภัยเหมือนกับน้ำท่วม แผ่นดินไหวจึงมีการตั้งกรรมการตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขึ้นมาในช่วงธันวาคม-มกราคม จัดการดับไฟในช่วง กุมภาพันธ์-เมษายน หลังจากนั้นจบก็กลับเข้าสู่กรมกอง ฝนตกมาก็หาย เรื่องนี้ก็ไม่ถูกพูดถึง แล้วก็กลับมาใหม่พอธันวาคม มกราคมก็ตั้งกรรมการขึ้นใหม่แล้วก็ดับไฟ แล้วก็เลิกแยกย้ายมันเป็นลูปแบบนี้มา 14 ปีแล้ว”

“อันที่สองก็จะใช้วิธีสั่งคำสั่งมาจากศูนย์กลางของรัฐที่กรุงเทพมหานคร มาที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดก็สั่งไปที่กำนัน นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน นายกท้องถิ่นต่างๆ ใช้วิธีบริหารแบบคำสั่งจากบนลงล่าง”

“อันที่สามก็คือใช้ zero burning มีการประกาศห้ามเผา ตอนแรกในเชียงใหม่ก็ช่วงมีนาคม เมษายน ตอนหลังก็ขยายเป็นกุมภาพันธ์-เมษายน เขาเรียกว่ามีการประกาศห้ามเผา ใครเผาโดนจับ ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย” คุณชัชวาลย์ขยายเพิ่มเติมว่านโยบาย zero burning นั้น ในอดีตเวลาก่อนจะถึงช่วงห้ามก็จะเป็นวันเผาแห่งชาติ คนก็จะเผากันอย่างเต็มที่ก่อนจะถึงวันห้าม และวันที่พ้นจากระยะเวลาก็เผากันสนั่นหวั่นไหว จะสังเกตได้ว่าการจัดการที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือราชการเป็นหลัก

ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาร่วมกันผ่านเชียงใหม่โมเดล

“เชียงใหม่โมเดลคือสิ่งที่เราเริ่มต้น เพราะว่าเราเห็นว่า 14 ปีมันแก้ไม่ได้ เราในฐานะผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ มันไม่ไหวแล้ว มันทนไม่ไหว เพราะฉะนั้นภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมา”  

เชียงใหม่โมเดลเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชน และทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ศิลปิน สื่อมวลชน ฯลฯ มีทั้งภาคเมือง ภาคชนบทมาร่วมมือกับภาครัฐ ทำงานกับทางจังหวัดในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน โดยหวังว่าตัวแปรใหม่ๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การเกิดขึ้นของเชียงใหม่โมเดลไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่มีสภาลมหายใจ อันเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมแก้ไขปัญหาตามศักยภาพที่แต่ละฝั่งมี โดยมีความหวังอยากเห็นเชียงใหม่อากาศสะอาด ทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปีพ.ศ.2562 ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนกับชุมชน คนที่ถนัดเรื่องธุรกิจช่วยดูเรื่องระดมทุนและการทำงาน กลุ่มนักวิชาการทำงานวิชาการ รวบรวมองค์ความรู้สู้ฝุ่น กลุ่มศิลปินอย่างกลุ่ม art for air ทำงานสื่อสารกับสาธารณะ ฯลฯ

Art for a while กาดฉำฉา ระดมทุนแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันเชียงใหม่ ขอบคุณภาพจากเพจสภาลมหายใจเชียงใหม่


“ที่ตั้งใช้ชื่อคำว่า ‘สภาลมหายใจ’ ก็เพราะว่าเราพยายามจะอธิบายใหม่ว่าแท้จริงแล้ว ทุกคนมีส่วนในการสร้าง pm 2.5 มันไม่ใช่เป็นอุบัติภัย แต่ว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง pm 2.5 ด้วยกันทั้งสิ้น”

ภาพจำของหลายคนอาจจะมองว่าฝุ่นเกิดจากการเผาข้าวโพดจนเกิดควันโขมง การทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งเมื่อทำเกษตรที่สูงก็ไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปทำงานได้จนต้องเผา หรือไฟป่า แต่แท้จริงปัญหาของฝุ่นควัน เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภาคเมือง ทั้งภาคคมนาคมขนส่ง ภาคโรงงานอุตสาหกรรม การสตาร์ทเครื่องยนต์แต่ละครั้งก็เหมือนกับจุดไฟ ทำให้เกิด pm 2.5 ออกมา นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้าง การระเบิดหิน ปัญหาฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงสภาพลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะที่ทำให้ฝุ่นควันนอนกองอยู่ในแอ่ง เมื่อประสบกับฝุ่นควันจากชีวมวลและแรงกดอากาศสูง ทำให้การยกตัวของอากาศทำได้เพียง 1-2 กิโลเมตรในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนจากที่เดือนอื่นอาจยกตัวของอากาศสูงถึง 10-15 กิโลเมตรก็ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวปัญหาฝุ่นควันรุนแรง เหมือนมีฝาชีครอบฝุ่นกักไว้อยู่ในเมือง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เป็นปัญหาที่มีการลื่นไหล บางครั้ง hotspot (จุดความร้อน) มีไม่เยอะจากเชียงใหม่ แต่ข้ามแดนมาจากจังหวัดตากมาลำปาง มาลำพูน ซึ่งมันเลื่อนไหลตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันเป็นปัญหาที่ไม่ใช่แค่มาดับไฟ ถึงแม้ว่าจะระดมคนมาดับไฟทั้งประเทศเลยก็ยังแก้ไม่ได้ครับ” คุณชัชวาลย์กล่าว

เชียงใหม่โมเดลขับเคลื่อนด้วยการชวนให้เห็น “ช้างทั้งตัว”

ด้วยปัญหาฝุ่นควันที่ซับซ้อน เพื่อที่จะได้วิเคราะห์ปัญหาและเห็นปัญหาครบรอบด้าน เชียงใหม่โมเดลจึงเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมาร่วมกันพูดคุย จากทั้งมุมมองเศรษฐกิจ ชุมชน วิชาการและศิลปิน เพื่อให้เห็นปัญหารอบด้านแบบที่คุณชัชวาลย์ใช้คำว่าเห็น “ช้างทั้งตัว” โชคดีที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีจำนวนมหาวิทยาลัยถึง 10 มหาวิทยาลัย เป็นวนานคร เมืองที่ผูกพันกับป่าไม้ และมีกลุ่มภาคประชาสังคม ชุมชนที่ลุกขึ้นมา พยายามแก้ปัญหาตัวเองมาก่อนหน้านั้น การชักชวนเพื่อมาพูดคุยสรุปบทเรียน การเห็นสาเหตุของปัญหาที่ต้องการแก้อย่างรอบด้าน และการวางเป้าหมายร่วมกันจึงเกิดขึ้นได้สำเร็จ

“เราจะต้องลด pm 2.5ให้ได้นะ เราจะต้องฟื้นฟูระบบนิเวศของเรา เราจะเปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ มาเป็นการรวมพลังในการแก้ปัญหา เราก็ตั้งธงแบบนี้”

นอกเหนือจากการทำงานในรูปแบบเครือข่ายตามศักยภาพของแต่ละกลุ่ม สภาลมหายใจยังมีการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนจนเกิดเป็น “คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ให้คณะทำงานได้ทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับหน่วยงานรัฐบาล เช่น คณะกรรมการภาคเมืองช่วยกันดูเรื่องคมนาคมขนส่ง เรื่องอุตสาหกรรม เรื่องการก่อสร้าง หรือมลพิษในเมือง มีคณะกรรมการมาจากทั้งฝั่งสภาลมหายใจ เทศบาล สำนักงานขนส่งจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น

ปรับการทำงานจากล่างขึ้นบน เปลี่ยนจำเลยมาเป็นเจ้าภาพ

“เชียงใหม่โมเดลปรับการทำงานจากบนลงล่างเป็นล่างขึ้นบน คือให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการป้องกันไฟและฝุ่นควันในระดับพื้นที่ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนเป็นแกนประสาน แผนทั้งหมดก็มาโยงขึ้นมาที่อำเภอ ที่จังหวัดอันนี้ก็คือกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เราใช้คำว่าเปลี่ยนจำเลยมาเป็นเจ้าภาพ ทุกทีเรามักจะมองชาวบ้านเป็นจำเลยว่าเขาจุดไฟใช่ไหม จริงๆ ชุมชน หลายแห่งเขาลุกขึ้นมาดูแลไฟ และก็ดับไฟมาโดยตลอด แต่เขารู้สึกน้อยใจ เสียกำลังใจ เพราะเขาตกเป็นจำเลย เราก็เปลี่ยนกระบวนการ ปีนี้ก็จะเป็นความรู้สึกที่ดี ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน”

แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่การทำงานก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อปรับให้ชุมชนซึ่งเข้าใจพื้นที่เป็นแกนในการทำงานในช่วงปีแรกนี้เกิดปัญหาว่าชุมชนไม่มีความพร้อมสมบูรณ์ เช่น ไม่มีงบประมาณ การสนับสนุนต่างๆ ยังน้อย ทำให้สภาลมหายใจต้องรับบทบาทเชื่อมร้อย ติดต่อประสานเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาช่วย

“อันนี้ต้องเจรจากันยาว เพราะที่ผ่านมาเขา (หน่วยงานท้องถิ่น) ไม่กล้าสนับสนุน เพราะเขาโดนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบว่าการสนับสนุนไปทำเรื่องไฟ เรื่องฝุ่นควัน มันนอกภารกิจหรือเปล่า เขาจะโดนตั้งคำถามจากสตง. เลยกลัวและไม่กล้า แต่ปีนี้สภาลมหายใจคุยกับทั้งทางท้องถิ่น จากท้องถิ่นไปคุยกับท่านผู้ว่าฯ และไปคุยกับสตง. พอเราเชื่อมโยงแบบนี้ เราก็มีทางออกก็ว่าท้องถิ่นสามารถสนับสนุนได้ เพราะว่าในกฎหมายมันก็เปิดโอกาส แต่ว่าเพื่อความมั่นใจ มีจดหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดส่งมาถึงท้องถิ่นทุกท้องถิ่น ในที่สุดก็มีการผ่อนคลายว่าท้องถิ่นสามารถสนับสนุนชุมชนได้ในการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นควัน”

นอกจากนี้สภาลมหายใจจากการมีบทในการเชื่อมโยงให้การทำงานมีลักษณะการเชื่อมร้อย มองภาพเป็นองค์รวม เติมเต็มช่องว่างหรือสุญญากาศบางอย่าง เพราะบางครั้งราชการอาจจะทำงานตามสายบังคับบัญชาจนขาดการเชื่อมโยง ยกตัวอย่างเช่น กรมอุทยานฯ เชียงใหม่มีศูนย์บังคับไฟป่าอยู่ประมาณ 13-14 แห่ง ด้วยกำลังพลและงบประมาณที่มีอยู่ดูแลป่าได้เพียง 20% ไม่สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ป่าเชียงใหม่ได้ทั้งหมด สภาลมหายใจจึงประสานงานกับชุมชนและท้องถิ่นเข้าไปช่วยเหลือ ระดมอุปกรณ์ในการช่วยดับไฟ อุปกรณ์ในการทำแนวกันไฟ เช่น พวกเครื่องเป่าลม พวกเครื่องฉีดน้ำ พวกคราด ฯลฯ จัดส่งไปให้ชุมชนต่างๆ เพื่อเน้นการป้องกันไฟมากกว่าไปดับ เป็นต้น ซึ่งอันนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สภาลมหายใจทำงานอุดช่องว่าง

ภาพบรรยากาศการประชุมเชียงใหม่โมเดล ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์สภาลมหายใจเชียงใหม่


เปลี่ยนจาก zero burning เป็นการบริหารเชื้อเพลิง

อีกหนึ่งมาตรการของเชียงใหม่โมเดลที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างชัดเจนคือการเปลี่ยนจากมาตรการห้ามเผา zero burning มาเป็นการบริหารเชื้อเพลิง จากเดิมที่คิดว่าหากไม่เผาก็ไม่เกิดฝุ่น แต่จากปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นว่ากลับมีการเผาก่อนและหลังช่วงห้ามค่อนข้างมาก ทำให้ฝ่ายวิชาการ ประชาชน ชุมชน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพูดคุยกันจนมีแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาเกิดเป็นแอปพลิเคชันไฟดี โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งแอปพลิเคชันจะแสดงข้อมูลกระแสลม ปริมาณฝุ่น pm 2.5 อุณหภูมิ การยกตัวของอากาศ มาร่วมพิจารณา

การใช้งานของแอปพลิเคชันนั้น ผู้ใช้งานจะต้องจองเบิร์นเขามาก่อน และแอปพลิเคชันจะแสดงว่าวันและเวลาดังกล่าวเหมาะสมต่อการเผาหรือไม่ ใช้แผนของชาวบ้านมาประกอบกับงานวิชาการของนักวิชาการ รวมถึงมีคณะกรรมการในศูนย์บัญชาการในการแก้ปัญหาฝุ่นควันที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ช่วยพิจารณาตัดสินใจทุกวัน เวลา 10.00 น. ส่งผลให้สามารถควบคุมปริมาณของฝุ่นละอองได้ดียิ่งขึ้น

ก้าวต่อไปของโอกาสอากาศสะอาด

ประเด็นที่ถือว่าเป็นก้าวต่อไปของโอกาสสะอาดคือการเชื่อมโยงกับจังหวัดข้างเคียงและประเทศเพื่อนบ้านในการจัดการมลพิษร่วมกัน คุณชัชวาลย์กล่าวว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเลยว่าบางช่วง hotspot ในจังหวัดแทบจะไม่มี แต่ค่า pm 2.5 ซึ่งแสดงให้เห็นปัญหาของฝุ่นควันข้ามแดนมาจากจังหวัดอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากในประเทศ บางปีมาจากพิษณุโลกก็มี ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสลม  

“เราก็เลยคุยกันว่าทำเฉพาะเชียงใหม่คงไม่ไหวเลยมีการขยาย เราใช้คำว่าเชื่อมโยงเครือข่ายการแก้ปัญหาในภาคเหนือตอนบน ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนบวกตากที่มีลักษณะภูมิประเทศใกล้เคียงกัน เริ่มจากตรงนี้ก่อน ซึ่งตอนนี้เราได้คุยกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับจังหวัดพะเยา ลำพูน ลำปาง ประมาณสัก 6 จังหวัดที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เข้าใจว่าปีนี้ทั้งปีเราจะทำงานเรื่องนี้กัน เราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างจังหวัดต่างๆ ที่จะมาเป็นเครือข่ายที่จะมาแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งแชร์ประสบการณ์ด้วย ทั้งช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย เราก็หวังว่าถ้าเราทำขยายได้หลายจังหวัดมากขึ้น มันก็น่าจะดีขึ้นในภาพรวม”

ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน สภาลมหายใจเชียงใหม่ก็พยายามเชื่อมโยง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน เมื่อไปจัดสัมมนาที่แม่ฮ่องสอนก็มีการเชิญตัวแทนจากรัฐฉาน แต่ว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด ผู้เข้าร่วมก็มาได้น้อยมาก มีข้อจำกัด ทางนั้นเองมองว่ามันเป็นเศรษฐกิจหลักของเขาเลยซึ่งคงต้องใช้เวลาเหมือนกัน หรือว่าทางสภาลมหายใจเชียงรายเองก็มีการประสานกับทางประเทศลาว ทางประเทศพม่าที่ติดกับชายแดนในการหาทางออกในระดับจังหวัด

“จริงๆ เราก็อยากส่งเสียงผลักดันไปยังรัฐบาลด้วยครับว่าจริงๆ มันมีข้อตกลงอาเซียนที่จะช่วยกันลดฝุ่นควัน แต่ดูเหมือนมันไม่ค่อยเวิร์ก มันไม่ได้มีแผนเชิงรุกที่ชัดเจนมากนัก แต่เข้าใจว่าเร็วๆ นี้ทางกรมอาเซียนเริ่มขยับตัวบ้างแล้ว เราก็คงเป็นการส่งเสียงผลักดันไปยังรัฐบาลให้แก้ปัญหาภาพรวมในระดับอาเซียนด้วย ในระดับจังหวัดที่เราพอจะทำได้ก็พยายามจะพูดคุยกันด้วยในระดับชายแดน”

อีกมาตรการในระยะยาวที่จะช่วยเพิ่มโอกาสอากาศสะอาดคือความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เนื่องจากพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเป็นพ.ร.บ.ที่เก่าและล้าหลัง เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกินไป โดยปัจจุบันมีร่างที่เสนอโดยหอการค้าไทยและเครือข่ายอยู่ในรัฐสภา นอกจากนี้ยังมีข่าวของร่างของพรรคภูมิใจไทยและข่าวของร่างเครือข่ายอากาศสะอาดที่กำลังจะเสนอต่อไป

ความหวังสูดอากาศปลอดพิษ

“(หัวเราะ) เราต้องมีความหวังครับ ยังไงเราก็ต้องมีความหวัง เพราะว่าไม่งั้นเราจะทนอยู่กับอากาศที่มี pm 2.5 ขนาดนี้ไม่ไหว ข้อมูลจากหมอบอกว่าถ้าเราอยู่กับมันสักปี อายุเราจะสั้นไปถึง 3-4 ปี และคนป่วยตอนนี้อัตราคนป่วยที่มาจากทางหลอดลมหายใจ หลอดเลือด หัวใจพวกนี้เพิ่มสูงขึ้นเยอะเลย เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามช่วยกันแก้ปัญหานี้ให้ได้”

“เชียงใหม่ตั้งการลดพื้นที่เผาไหม้ไว้ปีละไม่ต่ำกว่า 25% เทียบกับปีที่แล้ว เวลาเราไปวางแผนกับชาวบ้านในระดับพื้นที่ก็จะคุยกันว่าปีที่แล้วมีพื้นที่ไหม้เท่าไหร่ ถ้าจะลดลงอีกประมาณ 25% จะต้องทำอะไรบ้าง เราก็หวังว่าแผนจากชุมชนเมื่อมาอยู่ในแผนรวมแล้วน่าจะลดได้ปีละ 25% ปีที่แล้วเราผูก hotspot อยู่ 20,000 กว่าจุด มีพื้นที่เผาไหม้อยู่ 1.3 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นเราก็อยากเห็นมันค่อยๆ ลดลงตามลำดับ เราก็หวังไว้อย่างนั้น จริงๆ เราหวังมากกว่านั้นแต่โอเคเราก็ตั้งในระดับที่มีความเป็นไปได้สูงสุดก่อน ก็มีความหวังอยู่ครับว่าจะดีขึ้น”

“ถ้ามันได้ตามนี้จริงๆ อย่างน้อยเริ่มจากตัวเราเองก่อน เราก็หวังว่าสัก 4-5 ปีก็น่าจะอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างน่าจะน่าพอใจครับ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องคุยกับเพื่อนบ้านด้วย ในจังหวัดต่างๆ ด้วยที่อยู่ในภาคเหนือ”

เชียงใหม่โมเดลจะเดินหน้าไปสู่วันที่อากาศปลอดพิษหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป แม้ว่าจะมีเรื่องน่ากังวลว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการจังหวัดในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้อาจจะทำให้แนวทางการทำงานเปลี่ยนแปลง แต่ก็หวังว่าเชียงใหม่โมเดลจะขับเคลื่อนต่อไปจนเป็นโมเดลให้กับจังหวัดอื่น เมืองอื่นทั่วโลกในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศโดยประชาชนมีส่วนร่วม

ที่มา : Greenpeace Thailand 1 มีนาคม 2021
โดย กรกมล ศรีวัฒน์

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com