ทั่วโลกคอนเฟิร์ม ถึงเวลาบอกลา “พลาสติกใช้แล้วทิ้ง”


ก่อนยุค 1950 และ 60 มนุษย์เราสร้างบรรจุภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนานเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ขวดนมที่ทำจากแก้วซึ่งใช้ระบบการส่งคืนและฆ่าเชื้อเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ร้านอาหารให้บริการจานเซรามิกและช้อนส้อมสแตนเลส และเรายังไม่รู้จัก “ถุงพลาสติก”

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ทำให้เราสามารถพัฒนาผลิตสินค้าที่มีต้นทุนต่ำลงในปริมาณมหาศาล และความสามารถนี้ก็เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับวัฒนธรรมกินทิ้งกินขว้างที่เพิ่มมากขึ้น อย่างที่เรารู้กันดี วัฒนธรรมนี้ส่งผลให้เกิดการ “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” สิ่งที่ตามมาคือวิกฤตขยะและภูมิทัศน์ที่งดงามถูกทำลายไป

Single-use Plastics at Evacuation Center in the Philippines  Basilio H Sepe  Greenpeace© Basilio H. Sepe / Greenpeace

ปัจจุบัน เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับ 30 ปีที่แล้ว และผลิตขยะจำนวนมหาศาลถึง 2 พันล้านตันต่อปี คงไม่น่าแปลกใจว่าหนึ่งในตัวการหลักคือพลาสติก ที่กลายเป็นภูเขาขยะมหึมา รวมทั้งก่อตัวกลายเป็นแพยักษ์ในมหาสมุทร เราสามารถพบขยะพลาสติกได้ในทุกมุมบนโลกใบนี้แม้แต่ในแอนตาร์กติกา พลาสติกผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและมีสัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5% ทั่วโลก ลักษณะที่เป็นพิษของพลาสติกก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตนับล้านรวมทั้งมนุษย์ด้วย เราอาจเคยเห็นภาพอันน่าสยดสยองของเต่าและนกทะเลที่ตายเพราะพลาสติก

ในขณะที่อุตสาหกรรมพลาสติกต้องการให้ผู้บริโภคคิดว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกจำนวนมากสามารถรีไซเคิลได้ แต่จริง ๆ แล้วพลาสติกทั้งหมดที่ผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 กลับถูกนำมารีไซเคิลน้อยกว่า 10% โดยส่วนที่เหลือถูกนำไปเผา ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ หรือปล่อยทิ้งกลายเป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อม

ในตอนนี้ แม้ว่าจะมีความตระหนักมากขึ้นถึงผลกระทบในระยะยาวของพลาสติกและความจำเป็นที่ต้อง “หยุด” การผลิตพลาสติกลง ผลคือ บริษัทหลายแห่งและแม้แต่รัฐบาลได้ประกาศคำมั่นเพื่อหาทางเลือกอื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระดาษ

ข้อเท็จจริงอันหนึ่งก็คือ ในแต่ละปี มีต้นไม้สามพันล้านต้นถูกตัดลงเพื่อนำมาทำบรรจุภัณฑ์กระดาษ เทียบเท่ากับพื้นที่ของสหราชอาณาจักร ต้นไม้จำนวนมากมาจากผืนป่าที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพรรณพืชที่ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์นับไม่ถ้วน รวมถึงชุมชนพื้นเมืองที่อาศัยผืนป่าเพื่อการดำรงชีวิต ผืนป่าเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ เป็นระบบนิเวศที่สำคัญและมีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเมื่อถูกทำลายลงแล้ว มันยากต่อการฟื้นฟู และไม่สามารถปลูกใหม่ทดแทนได้

ขณะนี้เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปกป้องและฟื้นฟู ดังนั้น เราจำเป็นต้องจำกัดจำนวนต้นไม้ที่นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

อาจเป็นเรื่องน่าขันเล็กน้อยที่ถุงพลาสติกถูกประดิษฐ์ขึ้น (ในปี ค.ศ.1959 โดยวิศวกรชาวสวีเดน Sten, Gustaf Thulin) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับถุงกระดาษซึ่งถือว่าไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากส่งผลให้เกิดการทำลายป่าไม้

เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งพลาสติกหรือกระดาษไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราไม่ควรเลือกระหว่างกระดาษหรือพลาสติกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามีทางเลือกอื่นที่มันดีกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องยุติการพึ่งพาผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

นี่คือเหตุผลที่ 188 องค์กรทั่วโลกรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ยุติการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและการบริโภคตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่แท้จริง

กรีนพีซ ประเทศไทย พร้อมกับองค์กรอื่น ๆ ทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ นักลงทุน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคประชาสังคม ปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้โดยมีระบบรองรับการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่การรีไซเคิล และย่อยสลายได้ซึ่งผลิตจากวัสดุที่มาจากพืช 100% ไม่ผสมวัสดุอื่นที่ย่อยสลายไม่ได้ ซึ่งทำให้มั่นใจว่า บรรจุภัณฑ์นั้น ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบ สิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทางออกของวิกฤตพลาสติกมีหลากหลาย อาทิ ระบบใช้ซ้ำและรีฟิล(Reuse and refill systems) บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100% ที่มาพร้อมกับระบบเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้ใช้พลาสติกน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องร่วมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ที่นี่

Clean Up and Waste Audit in Ladoga Lake Russia  Gleb Kuznecov  Greenpeace

ที่มา : Greenpeace Thailand 22 กุมภาพันธ์ 2021
โดย :   พิชา รักรอด

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com