ตรวจสอบนโยบายรัฐบาลในฤดูฝุ่นพิษ PM2.5 ที่จะมาถึง


นับตั้งแต่แถลงการณ์ #พอกันทีขออากาศดีคืนมา ที่เป็นข้อเสนอยื่นต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในวันที่ 23 มกราคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันซึ่งวิกฤตฝุ่น PM2.5 กำลังมาเยือนอีกครั้ง เรามาดูกันว่ามาตรการและนโยบายรัฐในเรื่องนี้ไปถึงไหนอย่างไร ต่อไปนี้คือการวิเคราะห์ของเรา


กิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” ที่กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, เมล์เดย์, Climate Strike Thailand และภาคประชาชน ร่วมเดินรณรงค์ไปยังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) รวมถึงข้อเสนอแนะ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการกับปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังและเร่งด่วน

รัฐบาลไม่สนใจเปลี่ยนสถานการณ์โควิดให้เป็นโอกาสในการจัดการมลพิษ PM2.5

จำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศต่างๆ ในกรุงเทพมหานครจำแนกตามดัชนีคุณภาพอากาศของไทย (ที่มา www.aqicn.org)

จำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศต่างๆ ในกรุงเทพมหานครจำแนกตามดัชนีคุณภาพอากาศของ USEPA (ที่มา www.aqicn.org)


เราได้เห็นหลายพื้นที่ทั่วโลกมีอากาศดีขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการล็อกดาวน์ของหลายเมืองทั่วโลก แต่เมื่อผ่อนคลายมาตรการลง มลพิษทางอากาศกลับมาอีกครั้ง ในกรณีของกรุงเทพฯ วันที่มีอากาศดีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ ดัง 2 ตารางด้านบน


แผนภาพด้านบนแสดงดัชนีคุณภาพอากาศ(Air Quality Index) PM2.5 ในกรุงเทพมหานครย้อนหลังไปถึง พ.ศ.2560 เส้นสีดำคือดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 ในปี พ.ศ.2563 จนถึงวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งหากไม่มีมาตรการการจัดการที่ชัดเจน แนวโน้มของคุณภาพอากาศในช่วงปลายปี 2563 ในกรุงเทพฯ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับอดีตที่ผ่านมาคือ คนกรุงเทพฯ จะเผชิญกับคุณภาพอากาศที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น

New normal ของเราไม่ได้ช่วยทำให้อากาศดีขึ้นเลย เราต้องมี #BetterNormal

แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ดำเนินมาเกือบปีไม่ตอบโจทย์แม้แต่น้อย

เมื่อฝุ่น PM2.5 มาเยือน รัฐบาลก็จะประกาศมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ผล นอกจากการรับมือเฉพาะหน้าแล้ว ทางออกจากวิกฤตนี้ ต้องอาศัยแผนปฏิบัติการที่มุ่งมั่น ซึ่งเราก็พบว่า แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ดำเนินมาเกือบปีไม่ตอบโจทย์แม้แต่น้อย

อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลไม่ได้เริ่มต้นอะไรเลยเพื่อปกป้องประชาชนจากผลกระทบฝุ่นพิษ PM2.5 เห็นได้จากประเด็นต่อไปนี้

  • ผ่านไปเกือบสิบปีแล้ว รัฐบาลยังไม่ได้ปรับ “มาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศ” ของประเทศไทยให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่ 3 ของ WHO(Interim Target 3) โดยที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีคือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก(Emission standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือกระทั่งรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมยังถูกควบคุมด้วยค่ามาตรฐานของ ‘ฝุ่นละอองรวม’ ทั้งที่ความเป็นพิษของฝุ่นแต่ละขนาดมีไม่เท่ากัน และการตรวจวัดก็ต่างกัน
  • มาตรการลดการเผายังปราศจากความเข้มงวดให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยน การพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการเศษซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อฟื้นฟูพัฒนาดิน
  • รัฐบาลไร้ซึ่งเจตจำนงทางการเมือง เครื่องมือทางกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) กฏหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) ที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน กฏหมายกำหนดระยะแนวกันชนระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน (Buffer zone) และหลักเศรษฐศาสตร์รวมถึงมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผนวกอยู่ในกรอบ (ร่าง)พระราชบัญญัติการบริการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด(Clean Air network) แม้ว่าเสนอผ่านไปที่รัฐสภา ก็จำเป็นต้องขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งโดยภาคประชาชน

สุดท้าย การฝ่าฟันวิกฤตมลพิษทางอากาศ รัฐบาลต้องกล้าหาญที่จะถอดรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้อง หาไม่แล้ว สุขภาพที่ดีของประชาชนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทยก็จะเป็นเพียงฝุ่นในสายลม

ที่มา : Greenpeace Thailand
โดย  ธารา บัวคำศรี 26 ตุลาคม 2020

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com