ประเทศไทยจะรอดพ้นจากการเป็นถังขยะพิษของโลกหรือไม่?


ข้อตกลงโลกว่าด้วยขยะพลาสติก – พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ : ประเทศไทยจะรอดพ้นจากการเป็นถังขยะพิษของโลกหรือไม่?

Plastic Waste Protest in Manila Bay  Jilson Tiu  Greenpeace

การขนส่งขยะพลาสติกในอ่าวมะนิลา ฟิลิปปินส์ © Jilson Tiu / Greenpeace © Jilson Tiu / Greenpeace

นับตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนห้ามนำเข้าพลาสติกรีไซเคิลผสมในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2561 นอกจากส่งผลสะเทือนต่อระบบรีไซเคิลพลาสติกทั่วทั้งโลกและเผยให้เห็นถึงลักษณะที่เป็นอันตรายและสิ้นเปลืองของระบบการค้าขยะรีไซเคิลแล้ว ผลที่ตามมาคือ การค้าขยะพลาสติกส่วนใหญ่เปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งขาดมาตรการที่รัดกุมเพื่อยุติการนำเข้าหรือไม่มีขีดความสามารถอย่างแท้จริงในการจัดการของเสีย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง(พ.ศ.2559-2561) การส่งออกพลาสติกทั้งหมดทั่วโลกลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ผู้ส่งออกรายเดิมต้องจัดการกับขยะตกค้างทั้งส่วนที่ไม่แปรรูปและกึ่งแปรรูปในประเทศของตน แรงกดดันยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น หากการผลิตพลาสติกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามท่ีคาดการณ์ไว้ร้อยละ 40ในอีกทศวรรษหน้า

UK Plastic Waste near Wespack Recycling Factory Malaysia  Greenpeace

ขยะบรรจุภัณฑ์อุปโภคบริโภคพลาสติกถูกพบในบริเวณใกล้กับโรงงานรีไซเคิลขยะ Wespack ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลขยะในมาเลเซีย © Greenpeace

มาเลเซีย เวียดนามและไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางแรกๆ ของการค้าขยะพลาสติกหลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติก ช่วงกลางปี พ.ศ.2561 รัฐบาลทั้งสามประเทศออกมาตรการควบคุมทำให้การส่งออกขยะพลาสติกทั่วโลก(ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น) เปลี่ยนเส้นทางไปยังอินโดนีเซียและตุรกี

กราฟแสดงการนำเข้าเศษพลาสติกระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ.2559-พฤศจิกายน พ.ศ.2561 มายังประเทศไทยจากประเทศผู้ส่งออก 10 อันดับแรก (ที่มา : ข้อมูลการค้าขยะพลาสติกโลกปี พ.ศ. 2559-2561 และผลกระทบจากนโยบายห้ามนำเข้าของเสียของสาธารณรัฐประชาชนจีน, กรีนพีซ เอเชียตะวันออก)

 

เมื่อวันที่  11 พฤษภาคม 2562 รัฐบาลกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ยกเว้นสหรัฐอเมริกา เห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดนหรือรู้จักกันในชื่อว่า “อนุสัญญาบาเซล(Basel Convention) เพื่อทำให้การค้า “ขยะพลาสติก(plastic waste)” มีความโปร่งใสและยกระดับการควบคุมการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านขยะพลาสติกระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน รับประกันว่าจะมีการจัดการขยะพลาสติกที่ปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์

การแก้ไขเพิ่มเติม(Amendment)ที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญโดยมุ่งหมายที่จะลดมลพิษพลาสติก ภายใต้กลไกของอนุสัญญาบาเซลนี้บรรลุข้อตกลง ณ การประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาทั้งสามในเวลาพร้อมๆ กัน ได้แก่ อนุสัญญาบาเซล อนุสัญญาร็อตเตอร์ดัมและอนุสัญญาสต็อกโฮล์มที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 29 เมษายน-10 พฤษภาคม 2562 ในหัวข้อร่วม “Clean Planet, Healthy People : Sound Management of Chemicals and Waste

UK Plastic Waste at Wespack Recycling Factory Malaysia  Greenpeace

ขยะบรรจุภัณฑ์อุปโภคบริโภคพลาสติกถูกพบในบริเวณใกล้กับโรงงานรีไซเคิลขยะ Wespack ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลขยะในมาเลเซีย © Greenpeace

นี่คือโอกาสของประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซล (ไทยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 24 พฤศิจกายน 2540 อนุสัญญาบาเซลมีผลบังคับใช้สำหรับไทยตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2541) สามารถใช้สิทธิตามกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศนี้ในการปฏิเสธนำเข้าขยะพลาสติก

ข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติม(Amendment)ว่าด้วยขยะพลาสติกภายใต้อนุสัญญาบาเซลนี้ส่งสัญญานทางการเมืองที่ชัดเจนต่อประชาคมโลก ต่อภาคธุรกิจ และต่อตลาดผู้บริโภคว่าถึงเวลาต้องจัดการกับปัญหาการค้าขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ข้อตกลงครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้เป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศในซีกโลกใต้ในการยุติการทิ้งขยะพลาสติกระหว่างประเทศ และปกป้องประเทศของตนมิให้กลายเป็นถังขยะและกากของเสียเป็นพิษของโลก

ประเทศที่ริเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดข้อตกลงว่าด้วยขยะพลาสติกคือ นอร์เวย์ ซึ่งเดินหน้าไปเร็วกว่ากระบวนการเจรจาตามมาตรฐานของสหประชาชาติ ส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงนี้ แต่ยังรับรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นในฐานะเป็นประเทศผู้ส่งออกขยะพลาสติกที่ต้องดำเนินตามพันธกรณีของอนุสัญญาบาเซล สภาอุตสาหกรรมเคมีแห่งสหรัฐอเมริกาและสถาบันอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษวัสดุถือเป็นกลุ่มผู้เล่นหลักในเวทีเจรจาของอนุสัญญาบาเซลโดยมีจุดยืนคัดค้านข้อตกลงเพื่อควบคุมการส่งออกและนำเข้าขยะพลาสติก

ข้อตกลงควบคุมขยะพลาสติกนี้ยังนำไปสู่การที่หน่วยงานศุลกากรจะต้องทำการตรวจตราขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายให้ละเอียดรอบคอบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยจะมีระบบที่มีความโปร่งใสและมีการตรวจสอบย้อนกลับของการนำเข้าและส่งออกขยะพลาสติก นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นจังหวะที่ก้าวหน้าในการผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้จัดการกับขยะที่เกิดขึ้นในประเทศ ตลอดจนปรับปรุงระบบการกำจัดของเสียที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขยะพลาสติกบริเวณชายหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี © Chanklang Kanthong / Greenpeace

แต่การจัดการขยะพลาสติกในสังคมไทยกลับต้องเผชิญกับความท้าทายเพิ่มมากขึ้น เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติโรงงานในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา เนื้อหาสำคัญของกฎหมายคือ การให้เอกชนไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4) จากเดิมที่ต้องต่ออายุใหม่ทุก 5 ปี เป็นผลให้ 60,000 โรงงานทั่วประเทศได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว ขณะที่เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แย้งว่าเนื้อหาสาระสำคัญดังกล่าว จะนำไปสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษในสิ่งแวดล้อมกระจายออกไปโดยขาดการควบคุมที่รัดกุม  ซึ่งจะนำไปสู่การลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

ที่สำคัญ โรงงานขนาดเล็กกว่า 50 แรงม้าส่วนใหญ่ประกอบกิจการเป็นประเภทโรงงานหล่อหลอมโลหะ รีไซเคิล คัดแยกขยะ ฝังกลบขยะ ถือเป็นกลุ่มโรงงานที่อันตรายต่อชุมชนหากไม่มีมาตรฐานการดำเนินกิจการ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรปราการ และเขตลาดกระบัง ในขณะที่ การยกเลิกระบบต่ออายุใบอนุญาตยิ่งเปิดช่องให้การกำกับดูแลจากรัฐอ่อนแอลงหรือแทบไม่มีเลย

ในขณะที่เรามีสิทธิทางกฎหมาย(ระหว่างประเทศ)ที่จะปฏิเสธการนำเข้าขยะพลาสติกที่เป็นปัญหา พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่กลับเปิดประตูกว้างเพื่อให้ประเทศไทยเป็นถังขยะพิษของโลกต่อไป!

โดย ธารา บัวคำศรี 
ที่มา  Greenpeace Thailand วันที่ 19 พฤษภาคม 2562

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com