ในผลการประชุม COP 19 ได้มีมติเชิญชวนให้รัฐภาคีทุกประเทศเสนอข้อมูล "INDCs" เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา2 ของอนุสัญญาฯ คือ การควบคุมระดับของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดอันตรายของมนุษย์ โดยให้มีการสื่อสารส่งข้อมูล INDCs ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนสมัยประชุม COP 21 (ซึ่งจะมีการประชุมปลายปี 2015) สำหรับรัฐภาคีที่พร้อมสามารถเสนอได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2015 โดยต้องเป็นข้อมูลมีความชัดเจน โปร่งใส และเข้าใจได้ง่าย
INDCs เกิดขึ้นภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงโลกร้อนฉบับใหม่หลังปี ค.ศ.2015 ซึ่งเป็นความตกลงที่พยายามหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อต้องการควบคุมรักษาระดับของอุณหภูมิบรรยากาศโลกมิให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ.2100 ดังนั้น อาจแปลความหมายของ INDCs ได้ว่าเป็น “การกำหนดเป้าหมายสนับสนุนในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น”
ความตกลงโลกร้อนฉบับใหม่อาจมีผลลัพธ์การเจรจาออกมาในรูปแบบเป็นพิธีสาร หรือตราสารกฎหมาย หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมายภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้แล้วเสร็จภายในการประชุม COP 21 (ปี 2015) เพื่อให้มีการรับรองพิธีสาร หรือตราสารกฎหมาย หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมายนั้น ที่สำคัญ คือ ให้มีผลบังคับใช้กับทุกประเทศภาคีตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป
บางประเทศได้ตีความคำว่า “การสนับสนุน” (Contribution) หมายถึงการสนับสนุนเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่บางประเทศได้ตีความว่าการสนับสนุนรวมไปถึงเรื่องการปรับตัว ด้านการเงิน ด้านการเพิ่มศักยภาพ รวมทั้งการถ่ายทอดและสนับสนุนเทคโนโลยี ในการประชุม COP 19 ได้มีมติขอให้ ADP ดำเนินการภายในสมัยประชุม COP 20 ซึ่งจะมีการประชุมในปลายปี 2014 นี้ เพื่อสร้างความชัดเจนว่าข้อมูลการสนับสนุนที่จะให้รัฐภาคีจัดเตรียมดังกล่าว มีลักษณะอย่างไร (โดยที่ไม่เป็นการชี้นำถึงสถานภาพทางกฎหมายของข้อมูลการสนับสนุนนั้น) รวมทั้งเร่งรัดและขอให้ประเทศพัฒนาแล้ว องค์กรต่างๆ ของกลไกการเงินภายใต้อนุสัญญาฯ และองค์กรอื่นๆ ที่มีความพร้อม ให้การสนับสนุนต่อรัฐภาคีสำหรับการเตรียมการดังกล่าวข้างต้น โดยดำเนินการสนับสนุนให้รวดเร็วที่สุดภายในปี 2014
จากการประชุมเจรจาประเทศสมาชิกมาจนถึงขณะนี้ ยังเป็นข้อถกเถียงและเจรจากันอยู่ว่า ข้อมูล การสนับสนุนจะมีขอบเขต และองค์ประกอบของเนื้อหาอย่างไรบ้าง สถาบันวิจัยและองค์กรด้านวิชาการต่างๆ ได้เริ่มจัดทำเอกสารออกมาเพื่อนำเสนอประเด็นหัวข้ออภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง INDCs เช่น World Resource Institute , ECOFYS เป็นต้น หัวข้ออภิปรายมีทั้งเรื่องประเภทของการสนับสนุนว่าจะหมายถึงเฉพาะเรื่องการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกหรือควรมีความหมายกว้างกว่าเรื่องการลดก๊าซ เรื่องช่วงเวลาของการสนับสนุนว่าควรเป็นระยะสั้น (ภายใน 5 ปี) ระยะกลาง (6-10 ปี) หรือควรเป็นระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) เรื่องช่วงตัวเลขการสนับสนุน (Range) และเงื่อนไข เช่น การสนับสนุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดำเนินการของประเทศภาคีอื่นๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน
สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการเพื่อทำการบ้านเรื่อง INDCs โดยได้รับการสนับสนุนจากทาง UNDP คำตอบเรื่อง INDCs ของประเทศไทยจะมีครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด อยู่ที่ระดับใด จะเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาหาคำตอบร่วมกัน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤติเรื่องโลกร้อน และสร้างให้เกิดประโยชน์ร่วมในหลายด้าน (Multiple Benefits) ต่อประเทศไทยไปพร้อมกัน