ปฏิรูประบบ EIA เพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ


โจทย์ข้อหนึ่งในการปฎิรูประบบเศรษฐกิจ คือ การปรับแนวคิดและรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่เส้นทาง“เศรษฐกิจสีเขียว”  โจทย์เรื่องนี้เป็นการบ้านทั้งของประเทศไทยและของทุกประเทศทั่วโลก เนื่องมาจากการที่ต้องเผชิญกับวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาขยะอิเลคทรอนิคส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งมีแนวโน้มจะมีความรุนแรงและสร้างผลกระทบมากขึ้น


ความตื่นตัวเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จัดขึ้นในปี ค.ศ.2012 ที่ประเทศบราซิล (การประชุม Rio+20)โดยมีหัวข้อเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและขจัดความยากจน” เป็นหัวสำคัญข้อหนึ่งในการประชุม ข้อเสนอเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวเป็นความพยายามขององค์การสหประชาชาติที่จะแสวงหาแนวคิดและทางเลือกใหม่ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่สามารถเกิดควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

การปรับสู่เส้นทางเศรษฐกิจสีเขียวต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ของการพัฒนา ต้องอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เครื่องมือทางกฎหมายหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปรับตัว การดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น การปรับโครงสร้างระบบภาษีด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายและมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก การพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ฯลฯ

การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment :EIA )นับเป็นเครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวขึ้นได้ หากมีการปฏิรูประบบEIA ที่เป็นอยู่ในเวลานี้

การจัดทำรายงาน EIA (รวมทั้ง EHIA)  เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจทางนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การสร้างสนามบิน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม เขื่อน (ปัจจุบันมีกำหนดไว้ตามกฎหมายรวม 35 ประเภท) เป็นการศึกษาทางวิชาการเพื่อประเมินว่าหากมีโครงการหรือกิจกรรมเกิดขึ้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้างต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ผลกระทบทางสังคม สุขภาพ ชุมชนในพื้นที่ และที่สำคัญ คือ จะมีแนวทาง มาตรการเพื่อการป้องกันหรือลดผลกระทบเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง การทำ EIA จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้น โดยลดกระทบทางสิ่งแวดล้อมและด้านต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับกันได้ทั้งในทางสังคมและเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เป็นการพัฒนาตามเส้นทางเศรษฐกิจสีเขียว

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะหลังจะมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่กับการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เกิดมากขึ้น เป็นปัญหาในทุกภูมิภาค กรณีที่เผยแพร่เป็นข่าว เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เขื่อนแม่วงก์ เหมืองทองเลย เหมืองทองพิจิตร ท่าเรือปากบรา โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ฯลฯ หลายกรณีกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง ชุมชนในหลายพื้นที่ไม่ยอมให้คณะศึกษา EIAเข้าไปในพื้นที่การศึกษา เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการทำ EIA ก่อน อาจกล่าวได้ว่า เครื่องมือ EIA ได้กลายเป็น “กับดักความขัดแย้ง” ในตัวเอง

ความพยายามในการยกเครื่อง ปฏิรูประบบ EIA มีมาในหลายช่วงแต่ไม่เคยสำเร็จ ในปี 2555 มีข้อเสนอของภาคประชาสังคมผ่านออกมาเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังไม่ไปสู่ขั้นการดำเนินการใดๆ ล่าสุดมีข้อเสนอเรียกร้องจากเวทีสมัชชาวิชาการขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชนเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 ให้มีการปฏิรูป EIA ทั้งระบบ เป็นข้อเสนอในโอกาสวาระการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอในครั้งนี้ไม่ได้เป็นข้อเสนอเรียกร้องต่อภาครัฐเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่เป็นข้อเสนอที่รวมถึงการขับเคลื่อนกระบวนปฏิรูป EIA โดยภาคประชาสังคมด้วย ซึ่งหมายความว่าภาคประสังคมจะไม่รอการปฏิรูปที่เกิดจากภาครัฐเหมือนที่ผ่านมาในอดีต

ผู้เขียน: ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์......ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Think Tank
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,985 วันที่ 21 - 24 กันยายน พ.ศ. 2557
ภาพ : http://deohs.washington.edu/health-impact-assessment-duwamish-cleanup-plan

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com