การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: เราจะเลือกกันอย่างไร?


ในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยได้มีการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการปรับตัวต่อปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการศึกษาเพื่อที่จะนำผลการศึกษานี้ไปใช้ประกอบการวางนโยบายและแผนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่อย่างไรก็ดี แผนการขับเคลื่อนการปรับตัวฯที่จะส่งผลให้ทุกภาคส่วนมีความมั่นคงทนทานต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตที่จะเกิดขึ้นนั้นยังไม่เป็นรูปธรรมนัก ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากกรอบการตัดสินใจสำหรับการดำเนินการในแผนการปรับตัวฯนั้น ยังไม่เหมาะสม เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเป็นพื้นฐานของการคาดการณ์อนาคต

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเป็นการวางแผนต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในระยะยาว ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีขึ้น (resilience) และเพื่อให้แผนงานต่างๆ ยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น (robust) การวางแผนในลักษณะดังกล่าวจึงต้องคำนึงถึงความไม่แน่นอนของอนาคตรวมเข้าไว้ด้วย ซึ่งความไม่แน่นอนนี้อาจเป็นได้ทั้งความไม่แน่นอนของการคาดการณ์ภูมิอากาศในอนาคต และ/หรือ พลวัตของสภาพเศรษฐกิจสังคมซึ่งอาจจะเปลี่ยนบริบทของการปรับตัวไปโดยสิ้นเชิง แต่กรอบวิธีการตัดสินใจในการวางแผนงานต่างๆ ในประเทศไทย ต้องการความแน่นอนของสถานการณ์อนาคตเป็นพื้นฐานของการวางแผน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการคาดการณ์อนาคตในระยะยาว โดยเฉพาะในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ดั่งคำถามที่พบเจอบ่อยครั้งในการประชุมรายงานผลการศึกษาการคาดการณ์ฯว่า การเปลี่ยนแปลงในอนาคตจากผลการศึกษานี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? และเมื่อผู้ที่ทำการศึกษาไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนได้ก็ทำให้การวางแผนการปรับตัวเดินเข้าสู่ทางตัน

แม้ว่าการคาดการณ์อนาคตที่ใช้ประกอบการวางแผนการปรับตัวนี้จะอยู่บนพื้นฐานของหลักการทางวิทยาศาสตร์ และ/หรือ หลักการในการทำภาพฉายอนาคตด้วยเทคนิคอันหลากหลายก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็เป็นเพียงการทำภาพอนาคตให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยคำนึงจากผลสืบเนื่องของเงื่อนไขหลายๆ ประการที่เป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอนาคต (ในกรณีของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต) ซึ่งเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็เป็นเงื่อนไขที่สมมุติขึ้น และส่วนนี้เป็นที่มาของความไม่แน่นอนของสถานการณ์อนาคตที่เป็นผลผลิตจากการคาดการณ์ ดังนั้น การใช้กรอบแนวคิดเดิมๆ ในการวางแผน ซึ่งใช้แนวคิดแบบการทำนายให้ชัดเจนเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติ (predict-then-act) อันต้องการเงื่อนไขที่มีความแน่นอนเป็นรากฐานของการวางแผนมาใช้ในการวางแผนสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงเป็นอุปสรรคหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพราะการสร้างความแน่นอนขึ้นจากความไม่แน่นอนนั้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

การที่จะผลักดันให้เกิดการวางแผนและการขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและก้าวต่อไปข้างหน้าได้นั้น กรอบแนวคิดใหม่ๆ และนำเทคนิคการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนมาใช้ประกอบกระบวนการวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจเป็นแนวทางให้ได้ซึ่งความสำเร็จ ซึ่งมีหลายแนวทาง เช่น การใช้หลักการ Robust Decision Making ซึ่งทางนักวิจัยที่ Rand Corporation ซึ่งเป็นสถาบัน think-tank ใหญ่ที่สหรัฐอเมริกาได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประกอบการวางนโยบายสาธารณะมาประยุกต์ใช้กับการวางแผนในการปรับตัว แนวทางนี้เป็นการพยายามหาความเป็นไปได้ของสภาพการณ์อนาคตที่หลากหลาย และหาทางเลือกเชิงนโยบายหรือแผนงานที่จะสนองตอบต่อสถานการณ์อนาคตทั้งหลายนี้ให้ได้มากที่สุด และคัดกรองสถานการณ์ที่แผนงานนั้นๆ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้มาวิเคราะห์หาสาเหตุว่าเหตุใดที่ทำให้แผนการนั้นไม่บรรลุเป้าหมาย โดยอาจจะผ่านกระบวนการหารือกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการขับเคลื่อนแผนนั้นๆ แต่เทคนิคนี้ก็เป็นเทคนิคที่มีความซับซ้อนพอสมควร

อีกแนวทางหนึ่งที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า ซึ่งทางชุดโครงการการศึกษาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยกำลังพยายามประยุกต์ใช้ในโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่นี้คือ การพยายามทำความเข้าใจถึงผลได้-ผลเสียของการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการภายใต้สถานการณ์อนาคตที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ ดังภาพประกอบ

ภายใต้กรอบการวิเคราะห์นี้ แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตภายใต้ภาพฉายอนาคต (ซึ่งอาจจะพิจารณาหลายแนวทาง) ควรจะต้องให้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าการดำเนินการไปตามสถานภาพในปัจจุบัน ซึ่งอาจพิจารณาภายใต้เงื่อนไขทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยอาจคำนวณเป็นตัวเงินหรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือประเมินออกมาในรูปแบบอื่นที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ และพิจารณาถึงความเสี่ยงในอนาคตจากการคาดการณ์ความสูญเสียจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเปรียบเทียบกับความสูญเปล่าในการลงทุน ซึ่งถ้าหากผลการประเมินการสูญเสียโอกาสหรือความสูญเปล่าในการลงทุนนั้นไม่สูงมากนัก แต่การคาดการณ์ความสูญเสียจากการไม่ดำเนินการใดๆ อาจจะสูงกว่ามาก การดำเนินการปรับตัวก็อาจจะมีความคุ้มค่าแก่การลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม

การจัดตั้งกรอบการวิเคราะห์ที่เหมาะสมขึ้นนี้อาจเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การตัดสินใจในการดำเนินแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 03 มิถุนายน 2558


สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com