“EIA” และ “EHIA” เป็นเครื่องมือของรัฐในการคุ้มครองประชาชนที่เกิดผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต อันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีใช้กันทั่วโลก ที่ไทยต้องทบทวนใช้!!
เรื่องราวเกี่ยวกับ อีไอเอ (EIA) หรือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และ อีเอชไอเอ (EHIA) หรือกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ทั้ง 2 คำนี้จะผุดขึ้นมาเสมอเมื่อมีการจัดทำโครงการใหญ่ๆ ขึ้นในประเทศ จึงอยากให้มาทำความเข้าใจกับ
2 คำนี้ไปด้วยกันครับ
ทั้ง “EIA” และ “EHIA” ถือเป็นเครื่องมือของรัฐในการคุ้มครองประชาชนที่เกิดผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต และอีกหลากหลายด้าน อันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีใช้กันทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศออกแบบมาให้เหมือนหรือต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานและปัญหาของแต่ละประเทศ เข้มบ้างจางบ้างแตกต่างกันออกไป ที่สำคัญจะขึ้นอยู่กับท่าทีและความคิดความเห็นของผู้นำ หรือผู้บริหารของแต่ละประเทศนั้นด้วย
ยกตัวอย่างในประเทศไทย อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เคยมองว่า “EIA” เป็นปัญหาและขัดขวางการพัฒนาประเทศ จึงใช้อำนาจสั่งทำโครงการแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรีโดยไม่ต้องทำ “EIA” หรือ อดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ได้อภิปรายในสภาว่า “EIA” เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ
และอีกหนึ่งตัวอย่าง คือ ครม.สมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ
ได้อนุมัติให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก่อน “EIA” อนุมัติ
เหล่านี้เป็นต้น ท่าทีแบบนี้ถือว่าได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไว้ไม่ใช่น้อย เพราะเป็นการปฏิเสธ
“EIA” และ “EHIA”
แต่อย่างไรก็ตาม “EIA” ก็ยังคงอยู่มาได้อย่างยาวนาน และทำหน้าที่คุ้มครองปกป้องประชาชนและประเทศชาติเรื่อยมา เห็นได้จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 บัญญัติไว้ใน มาตรา 67 เกี่ยวกับการให้สิทธิประชาชนในการดูแลรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองให้ประชาชนดำรงชีพอยู่ดีโดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรือคุณภาพชีวิต
โดยกำหนดให้การดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน
รวมทั้งให้มีองค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว และให้สิทธิชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้
ถือว่าเป็นบทบัญญัติในการดูแลและคุ้มครองประชาชนที่ก้าวหน้ากว่าทุกฉบับ
แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกลับถูกฉีกลง พร้อมการควบคุมอำนาจของ คสช. ความในบทบัญญัติดังกล่าว
นอกจากไม่ไปปรากฏในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือคำสั่ง คสช.ใดๆ แล้ว กลับมีคำสั่ง
คสช.ที่ 9/2559 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติว่า...
“ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาอนุมัติดำเนินการเพื่อให้ได้มา ซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้”
การออกคำสั่งดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความล้าช้าของ “EIA” เพราะหากเกิดจากสาเหตุของ “EIA” ก็ควรพัฒนาให้มีความรวดเร็ว และมีมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถทำได้และทำกันมาแล้วในหลายๆ ประเทศ คำสั่งนี้ถูกมองว่าออกมาเพื่อแก้ปัญหาให้เอกชนผู้รับเหมาเท่านั้น
จึงสร้างความหวั่นวิตกให้กับกลุ่มนักวิชาการ หรือนักอนุรักษ์ที่กังวลใจว่าโครงการต่างๆ ที่สร้างขึ้นนั้นจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนแล้ว ยังมีคนสงสัยว่าจะไปเอื้อใครอีกหรือเปล่าโดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ด้านการคมนาคม ด้านชลประทาน และโรงไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมักจะเป็นปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นตลอดมา
คำสั่งดังกล่าวถึงเวลาแล้วที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่เป็นเจ้าภาพหลัก ต้องหยิบยกขึ้นมาทบทวนได้แล้ว เพราะเงียบมานานกว่า 1 ปี หากปล่อยเช่นนี้ต่อไปจะมีคนพูดได้ว่า...
“รัฐบาลนี้ทำในสิ่งดีๆ ที่แตกต่างจากรัฐบาลของทักษิณ สมัคร ยิ่งลักษณ์ ได้มากมายหลายเรื่อง แต่ในเรื่อง “EIA” ที่ใช้ดูแลประชาชน รัฐบาลชุดนี้กลับไม่มีอะไรที่แตกต่างแต่อย่างใด”
หากไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้รัฐบาลได้รับความเสียหายได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของ “ภาพลักษณ์” ที่ทั่วโลกเฝ้าจับตามองอยู่ในขณะนี้
----------------------------------------------------------------
โดย “นริศ ขำนุรักษ์”
คอลัมน์ : พุ่มไม้ใบบัง By Narit
เดลินิวส์ วันพุธที่ 19 เมษายน 2560
ขอบคุณภาพจากคณะกรรมาธิการการที่ดินและสิ่งแวดล้อม
สภาผู้แทนฯ