ส.ส.-ส.ว. พร้อมร่วมมือผลักดันยุทธศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-เสนอรัฐบาลเพิ่มงบประมาณลดก๊าซเรือนกระจก


ส.ส.-ส.ว. พร้อมร่วมมือผลักดันยุทธศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-เสนอรัฐบาลเพิ่มงบประมาณลดก๊าซเรือนกระจก

รัฐสภาไทยผนึกกำลังภาครัฐ นักวิชาการและภาคประชาสังคม ผลักดันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เร่งรัดการปรับเปลี่ยนสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านเห็นพ้องการจัดสรรงบประมาณมีปัญหา เผยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ตั้งงบสิ่งแวดล้อมแค่ 3%  

ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวในการเปิดสัมมนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา” ณ ห้องประชุมสัมมนา อาคารรัฐสภา วันนี้ (21 มิถุนายน 2565) ว่าขณะนี้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มเข้าสู่ระดับวิกฤติหากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยจึงเกิดความตื่นตัวและดำเนินการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

“การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยให้เกิดความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ต้องอาศัยการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และการมีส่วนร่วมจากภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม” นายชวนกล่าวและให้ข้อมูลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30 ที่รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2565 นี้ด้วย

การสัมมนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา” ร่วมจัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move), Thai Climate Justice for All (TCJA), สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร  

การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความร่วมมือจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยให้ก้าวหน้า โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) จากฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของไทย

นายชวนกล่าวเพิ่มเติมว่าจะนำข้อมูลข้อเสนอแนะจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของรัฐสภา การพัฒนากฎหมาย มาตรการและเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งติดตามนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลเรื่องนี้

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ว่าไทยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 สผ. ได้เร่งแปลงเป้าหมายดังกล่าวให้เป็นแผนงานรูปธรรม เช่น ปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 จากระดับปกติภายในปี ค.ศ. 2030  

ดร. พิรุณให้ข้อมูลว่าในปี 2019 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะปล่อยเพิ่มขึ้นจนถึงปริมาณสูงสุดที่ 368 ล้านตันคาร์บอนฯ ในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งหลังจากรัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หมายความว่าในอีก 43 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือไม่เกิน 120 ล้านตันคาร์บอนฯ เนื่องจากเรามีศักยภาพดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้เท่านั้น

ดร. พิรุณย้ำว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งจากสมาชิกรัฐสภา

“รัฐสภามีส่วนสำคัญที่จะผลักดันกร่างกฎหมายและพิจารณางบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การพึ่งพาพลังงานสะอาด” เลขาธิการ สผ. กล่าว

นอกจากเลขาธิการ สผ. แล้ว ผู้ร่วมอภิปรายทั้งนักวิชาการ ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคเอกชนต่างแสดงความคาดหวังให้รัฐสภามีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนและการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบ

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เสนอให้คณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ของรัฐสภาผลักดันประเด็นวิกฤตจากสภาพภูมิอากาศเป็นวาระหลักในการทำงาน และใช้กลไกของรัฐสภาประสานทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาคการเมือง ภาคประชาชน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาให้มาทำงานในเรื่องนี้ร่วมกันเป็น “ชุมชนนโยบายว่าด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุดแม้มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

สมาชิกรัฐสภาที่เข้าร่วมการสัมมนา เช่น นายเกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส. พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนฯ, น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ดร.วีรศักดิ์ โควสุรัตน์ และ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ สมาชิกวุฒิสภา ต่างแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งในมิติของการออกกฎหมาย การพิจารณางบประมาณ และการติดตามการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการต่าง ๆ มีความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย  

“หลายประเทศพบว่าการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น เราจึงต้องย้อนกลับมาดูว่านโยบายที่เรานำมาใช้นั้นช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือยิ่งสร้างช่องว่างของการพัฒนาให้มากขึ้น” นายเกียรติ ส.ส. ประชาธิปัตย์ รองประธาน กมธ. การต่างประเทศกล่าว

นายเกียรติให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาใหญ่ของลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่งบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งสาเหตุมาจากการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และการละเลยที่จะใช้ประโยชน์จากกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ส.ส. ก้าวไกล ประธาน กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ ย้ำว่าทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารล้วนมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“กฎหมายและนโยบายเป็นเรื่องสำคัญมาก เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้ ถ้ารัฐบาลไม่มุ่งมั่นจริงจัง เราไม่มีทางบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ถ้านโยบายการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลยังพึ่งพาถ่านหิน ไม่เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวถึงกฎหมาย 3 ฉบับที่เธอเห็นว่ามีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของไทย ได้แก่ 1) ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดทำโดย สผ. และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ 3) พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

“ดิฉันจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ต่อเมื่อมีการบรรจุเป้าหมายและแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก และมีกลไกเรื่องการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate financing) ที่ชัดเจน” ประธาน กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนฯ กล่าว  

ในส่วนของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม น.ส.ศิริกัญญาสนับสนุนให้มีการแก้ไขหมวดของกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กองทุนฯ มีรายได้ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยและสม่ำเสมอ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

นอกจากนี้ ในฐานะ ส.ส. จะคอยติดตามทวงถามเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่ง น.ส. ศิริกัญญาระบุว่า “ไม่มีงบประมาณที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง”

น.ส.ศิริกัญญายกตัวอย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงินกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่มีงบประมาณที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงแค่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือราว 3% โดยงบประมาณก้อนใหญ่คือกว่า 1.1 พันล้านบาท เป็นงบจัดซื้อเครื่องมือตรวจอากาศเครื่องวัดลมเฉือนของกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำแต่อย่างใด

หลังเสร็จสิ้นการสัมมนา องค์กรร่วมจัดจะนำเนื้อหาและความเห็นที่ได้ไปประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยบทบาทของรัฐสภาในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ่านงานด้านนิติบัญญัติ และการติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com