‘ปธ.ชวน’ ห่วงคนไทยเจอปัญหา PM 2.5 ส่งผลกระทบสุขภาพมหาศาล


'ชวน หลีกภัย' เปิดสัมมนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชี้ไทยเจอปัญหา PM 2.5 ส่งผลกระทบสุขภาพมหาศาล

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา” และกล่าวตอนหนึ่งสรุปใจความว่า จากสถานการณ์ผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มนำไปสู่ระดับวิกฤติ หากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายและระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ประชาคมโลก และประเทศต่าง ๆ เกิดความตื่นตัวอย่างกว้างขวาง มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีการประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)

ขณะเดียวกัน ประเทศเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศในโลก ที่กำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่นเล็กจิ๋วที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอย่างมหาศาล โดยปัญหานี้เริ่มรุนแรงขึ้นมาในประเทศไทยเมื่อประมาณปี 2561 และต่อเนื่องกันมาทุกปี ซึ่งฝุ่น PM 2.5 นั้นมาจากหลายแหล่งกำเนิด และถือว่าเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สมควรได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน

โดยประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาด้านนี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส และกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศในเรื่องนี้ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศหลายด้าน รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เนื่องจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มีความเกี่ยวโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอีกหลายมิติ ทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุน ภาคการผลิตอุตสาหกรรม นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกติการะหว่างประเทศ ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ พลังงาน และอื่น ๆ ที่เป็นความท้าทายต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

นายชวน กล่าวต่อว่ารัฐสภา มีกำหนดจัดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก หรือ APPF ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 26-29 ต.ค. 65 และมีหัวข้อสำคัญในการประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทางรัฐสภาจะนำข้อเสนอแนะและสรุปผลการสัมมนาในวันนี้ ไปใช้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจของรัฐสภา และคณะ กมธ. คณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในมิติด้านการพัฒนากฎหมาย การพัฒนามาตรการ และเครื่องมือ เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวรวมทั้งการติดตามนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาล เพื่อร่วมผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นโอกาสต่อการเร่งรัดการปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ความร่วมมือหลายฝ่ายในวันนี้เป็นความไม่ดูดายต่อปัญหาของส่วนรวมของแต่ละฝ่าย แม้ว่าอาจจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของบางฝ่ายแต่การที่เราไม่ละเลยต่อปัญหาส่วนรวม สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทำสิ่งใดได้ก็เข้าไปร่วมทำ เหมือนกับที่สภาในขณะนี้ ก็ไม่ดูดายในการกำหนดนโยบายเรื่องบ้านเมืองสุจริต โดยเชื่อมั่นว่าประเทศจะรุ่งเรือง ถ้าบ้านเมืองสุจริต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ดูดายเช่นเดียวกันกับคณะ กมธ.การต่างประเทศในวันนี้ ที่ร่วมกับหลายฝ่ายปฏิบัติภารกิจของ กมธ. โดยการไม่ดูดายต่อปัญหาของส่วนรวม” นายชวนกล่าว

ที่มา : Dailynews Online วันที่ 21 มิถุนายน 2564

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com