ท่าทีไทยก่อนประชุม COP-26 หลังโลกร้อนขึ้น 1.1 องศา


นายกรัฐมนตรี-วราวุธ เตรียมบินร่วมวงประชุมเวทีโลกร้อน (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ระหว่าง 31 ต.ค.-12 พ.ย.นี้ ย้ำไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 17.49% บรรลุเจตจำนงเมื่อ 2 ปีก่อน พร้อมกางแผนไทยจับมือทุกภาคีกู้โลกก่อนทะลุ 2 องศาฯ

สถานการณ์โลกร้อนถูกยกระดับเรียกว่า “Code red”

หลังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) รายงานถึงผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของโลก ทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การละลายของน้ำแข็ง และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล

เบื้องต้นอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส จากระดับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเป้าหมายการดำเนินงานที่ประเทศต่างๆ จัดส่งภายใต้ความตกลงปารีส (NDCs) ยังไม่เพียงพอจะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียส และแนวโน้มจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส ภายในปี 2643

ดังนั้นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.–12 พ.ย.นี้ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ซึ่งปีนี้มีเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของโลก (global net zero emission) ภายในกลางศตวรรษ

นายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงท่าที 197 ชาติ COP-26

ในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นคณะผู้แทนประเทศไทย ประชุมร่วมกับผู้นำ 197 ประเทศ เพื่อแสดงท่าทีของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาโลกร้อน

ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17.49% หรือ 64.20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากภาคพลังงานและขนส่ง ถือว่าบรรลุเจตจำนงที่ได้แสดงไว้ต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7% อาจเพิ่มขึ้นถึง 20%

นายวราวุธ บอกถึงสิ่งที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการในการแก้ปัญหาโลกร้อน พร้อมระบุว่าไทยยังจะเน้นย้ำท่าที และมีความพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคีให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส โดยอยู่ระหว่างลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายตามความตกลงปารีส (NDCs) ให้ได้ 20–25% จากกรณีปกติ ภายในปี 2573 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ภายใต้แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ.2564-2573

คลี่แนวทางไทยจะทำอะไรบ้าง?

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ ภายใน 2573
  • พัฒนาระบบสารสนเทศการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยยกระดับวิธีการคำนวณบัญชีก๊าซเรือนกระจก  
  • จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี เห็นชอบยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ เมื่อ 19 ต.ค. และจะจัดส่งต่อกรอบอนุสัญญาในห้วงการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ และสื่อสารถึงความมุ่งมั่นของประเทศร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ.2561-2580 บูรณาการประเด็นด้านการปรับตัว เข้าสู่แผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการปรับตัวของประเทศอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม
  • จัดทำพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับแรกของประเทศไทย
  • ยุทธศาสตร์ระยะยาว มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี ค.ศ.2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก แบ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ 35% พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 5%
ที่มา : ThaiPBS วันที่ 27 ตุลาคม 2564

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com